อีก 5 ปี “แพทย์-ทันตแพทย์-เภสัชฯ” เพียงพอต่อการดูแล ปชช.


  
     สธ.เผยปีนี้มีแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร จบใหม่เกือบ 3,000 คน จัดสรรลงพื้นที่ตามเกณฑ์การกระจายบุคลากรแต่ละเขตสุขภาพ ระบุอีก 5 ปี บุคลากรทางการแพทย์ 3 สาขาจะเพียงพอต่อความต้องการ
 
 
       วันนี้ (1 เม.ย.) ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา นพ.ทรงยศ ชัยชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดอบรมปฐมนิเทศ พร้อมมอบโอวาทและแนวทางในการปฏิบัติงานแก่แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร ที่จบใหม่ของ สธ.ประจำปี 2557 จำนวน 2,743 คน ว่า ปีนี้มี แพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกรที่สำเร็จการศึกษา มาปฏิบัติงานในสถานบริการในสังกัด สธ.ทั่วประเทศ จำนวน 2,743 คน ประกอบด้วย แพทย์ 1,830 คน ทันตแพทย์ 563 คน และเภสัชกร 350 คน ทั้งหมดจะได้รับบรรจุเป็นข้าราชการ สธ.ซึ่งขณะนี้ สธ.กำลังเดินหน้ายุทธศาสตร์ 12 เขตบริการสุขภาพ เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรร่วมกัน ทั้งนี้ จะจัดอัตรากำลังคนแต่ละวิชาชีพให้เหมาะสมกับจำนวนประชากรที่ดูแล เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน เท่าเทียม และดี คิวรอรักษาสั้นลง โดยได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานกระจายบุคลากรแต่ละวิชาชีพในแต่ละเขตบริการสุขภาพ เช่น แพทย์ 1 คนต่อประชากร 3,000 คน ทันตแพทย์ 1 ต่อประชากร 10,000 คน เป็นต้น
      
       นพ.ทรงยศ กล่าวว่า จากข้อมูลล่าสุดเมื่อ 31 ต.ค. 2556 ภาพรวมบุคลากรของ สธ.ยังมีปัญหาเรื่องการกระจายตัว โดยมีแพทย์ปฏิบัติงานในระบบ 13,903 คน ความต้องการแพทย์เต็มระบบจำนวน 20,583 คน ยังขาดอีก 6,680 คน ทันตแพทย์ต้องการ 6,447 คน มีแล้ว 4,195 คน ยังขาดอีก 2,252 คน ส่วนเภสัชกรต้องการ 8,598 คน มีแล้ว 6,796 คน ยังขาด 1,802 คน ทำให้มีบุคลากรมีภาระงานหนัก ภายในปี 2562 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า จะมีบุคลากร 3 สาขาวิชาชีพนี้จบเพิ่ม 36,025 คน ได้แก่ แพทย์ 21,152 คน ทันตแพทย์ 4,800 คน และเภสัชกร 10,073 คน ซึ่งจะเพียงพอกับความต้องการในการดูแลประชาชน
      
       “การกระจายแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร จบใหม่ไปปฏิบัติงานตามพื้นที่ต่างๆ จะใช้เกณฑ์ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์กำหนดตามจำนวนประชากรในพื้นที่รับผิดชอบ ให้เลือกจังหวัดที่จะไปปฏิบัติงานชดใช้ทุนตามความสมัครใจเป็นเวลา 3 ปี โดยเฉพาะแพทย์จบใหม่ ในปีแรกทุกคนจะต้องปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนทักษะ และประสบการณ์ในการดูแลรักษาผู้ป่วย ที่โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไปเป็นเวลา 9 เดือน ภายใต้การดูแลของแพทย์ที่มีประสบการณ์ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ปฏิบัติงานด้วยความมั่นใจและมีความเข้าใจในระบบบริการยิ่งขึ้น หลังจากนั้นจะลงปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนจนครบ 3 ปี” รองปลัด สธ.กล่าว