แฉ! โยกย้ายครูจ่าย 6 หลัก ผู้บริหาร 7 หลัก จวก สพฐ.รวบอำนาจทำ 80 ร.ร.ไร้ ผอ.

UploadImage
สมาคมสถานศึกษาขั้นพื้นฐานฯ ยื่นหนังสือ “พงศ์เทพ” ทบทวนแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหาร ร.ร.พรีเมียม ชี้ สพฐ.รวบอำนาจ ผิดกฎหมาย ไม่มีใครเห็นด้วย หนำซ้ำทำให้การแต่งตั้งโยกย้าย ร.ร.ขนาดอื่นๆ ล่าช้า จนโรงเรียนกว่า 80 โรงทั่วประเทศไร้ ผอ.แฉ! มีกระบวนการหาประโยชน์จากการโยกย้ายครูจ่าย 6 หลัก ผู้บริหารจ่าย 7 หลัก 



 
 
       วันนี้ (12 มิ.ย.) นายอดิเรก รัตนธัญญา อุปนายกสมาคมกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย กล่าวภายหลังเข้าพบ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมด้วยกรรมการกว่า 20 คน ว่า สมาคมฯ ได้ยื่นหนังสือต่อ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อแสดงให้เห็นว่าสมาคมฯ คัดค้านการแต่งตั้งผู้บริหารโรงเรียนกลุ่มพรีเมียม ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รวบอำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายมาไว้ที่ส่วนกลาง ทั้งที่ตามกฎหมายกำหนดให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา ทำหน้าที่แต่งตั้งครูและผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่ เพราะฉะนั้นการกระทำเช่นนี้ของ สพฐ.จึงเท่ากับเป็นการผิดกฎหมายและยังทำให้การแต่งตั้งโยกย้ายมีความล่าช้า ส่งผลต่อการแต่งตั้งผู้บริหารโรงเรียนประเภทอื่นๆ ตามมา
       
       “ปกติ สพฐ.จะต้องแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารโรงเรียนขนาดใหญ่ ซึ่งรวมโรงเรียนกลุ่มพรีเมียมให้เสร็จเรียบร้อยก่อน แล้วจึงดำเนินการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารในโรงเรียนขนาดถัดไปไล่ตามลำดับจนถึงโรงเรียนขนาดเล็ก โดยให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ เป็นผู้พิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารในพื้นที่ ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันทีที่มีผู้บริหารเกษียณอายุราชการ แต่เมื่อ สพฐ.ดึงการแต่งตั้งโยกย้าย ผอ.โรงเรียนกลุ่มพรีเมียมมาที่ส่วนกลาง ทำให้เกิดความล่าช้า เมื่อยังไม่สามารถขยับ ผอ.โรงเรียนกลุ่มพรีเมียมได้ ทำให้การแต่งตั้งโยกย้าย ผอ.โรงเรียนขนาดอื่นๆ ชะงักตามไปด้วย” นายอดิเรก กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 8 เดือนนับแต่เกษียณอายุราชการเดือนตุลาคม 2555 ที่ผ่านมายังมีโรงเรียนกว่า 80 โรงยังไม่มีผู้บริหาร เพราะฉะนั้น ทางสมาคมฯจึงเสนอความเห็นต่อ รมว.ศึกษาธิการ ให้ยกเลิกการรวบอำนาจแต่งตั้งโยกย้าย ผอ.โรงเรียนกลุ่มพรีเมียม มาไว้ที่ส่วนกลาง แล้วกระจายอำนาจให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ดำเนินการเหมือนเดิม
       
       นายอดิเรก กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การเสนอให้ยกเลิกนั้น คือการดำเนินการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารโรงเรียนพรีเมียม รอบต่อไป ส่วนการคัดเลือกที่ สพฐ.ดำเนินการไปเรียบร้อยแล้ว 110 โรง และยังเหลืออีก 1 โรง เพราะผู้สมัครยังขาดคุณสมบัตินั้น และอยู่ระหว่างรอ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯแต่งตั้งนั้น คงไม่เสนอให้ยุติ เพราะไม่อยากให้กระทบต่อการบริหารงานของโรงเรียน อย่างไรก็ตาม หาก สพฐ.ยังแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารโรงเรียนพรีเมียม โดยการรวบอำนาจมาไว้ที่ส่วนกลางอาจทำให้ถูกฟ้องร้องได้ เพราะจริงๆ แล้วถือว่าขัดต่อกฎหมาย เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่มีใครลุกมาเล่นในประเด็นเหล่านี้ ขณะเดียวกัน การกระจายอำนาจให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ เป็นผู้พิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายจะทำให้การแต่งตั้งโยกย้ายมีความรวดเร็วกว่าและเขตพื้นที่ฯ เองก็จะรู้จักผู้บริหารในพื้นที่ตนเองดีกว่าคนนอก สามารถพิจารณาคัดเลือกคนที่มีความเหมาะสมได้ดีกว่า ขณะนี้ผู้บริหารโรงเรียน และผอ.เขตพื้นที่การศึกษา จำนวนมากไม่เห็นด้วยกับการแต่งตั้งโยกย้าย ผอ.โรงเรียนกลุ่มพรีเมียมของ สพฐ.
       
       “ยอมรับว่าในปัจจุบันมีการหาประโยชน์จากการแต่งตั้งโยกย้ายมากขึ้น กลายเป็นธุรกิจทางการศึกษา เพราะมีข่าวลือว่ามีขบวนการยอมจ่ายเพื่อแลกกับการโยกย้ายไปในที่ดี โดยอัตราการจ่ายของครูนั้นเป็นตัวเลข 6 หลัก และผู้บริหารเป็นตัวเลข 7 หลัก ทั้งนี้ เพราะกลไกเก่าๆ ที่ดีถูกเปลี่ยนแปลงไปสร้างระบบใหม่ขึ้นมา ซึ่งเป็นระบบที่ไม่ดีพอจึงทำให้มีการหาประโยชน์จากการแต่งตั้งโยกย้ายได้” นายอดิเรก กล่าว
       
       ด้าน นายพงศ์เทพ กล่าวว่า สมาคมฯมาเสนอความเห็นในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารโรงเรียนกลุ่มพรีเมียม อยากให้ไปดูว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ นอกจากนั้น อยากฝากให้เร่งรัดการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารด้วยเมื่อมีตำแหน่งว่างก็ควรจะเร่งแต่งตั้งโยกย้ายไม่เช่นนั้นจะเกิดผลกระทบ
       โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์12 มิถุนายน 2556