"หมอจบใหม่" คิดลาออกไปเรียนต่อเฉพาะทาง กลัวงานหนัก เสี่ยงถูกฟ้อง หวั่น "สมองไหล"


เมื่อวันที่ 22 เมษายน น.อ.(พิเศษ) นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา เปิดเผยว่า จากการสำรวจความคิดเห็นแพทย์จบใหม่ในปี 2556 จำนวน 837 คน จากทั้งหมด 2,124 คน พบว่า แพทย์ต้องการเรียนต่อสาขาเฉพาะทาง
และสามารถเลือกสาขาที่เรียนได้ ร้อยละ 96 ส่วนแพทย์ที่ยังระบุสาขาไม่ได้ หรือไม่เรียนมีเพียงร้อยละ 4 สาขาที่แพทย์อยากเรียนต่อมากที่สุด คือ อายุรศาสตร์ ร้อยละ 16 กุมารเวชศาสตร์ ร้อยละ 10 สูติศาสตร์นรีเวชวิทยา, ศัลยศาสตร์, เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ร้อยละ 7

จักษุวิทยา, ออร์โธปิดิกส์, เวชศาสตร์ครอบครัว ร้อยละ 6 วิสัญญีวิทยา,โสต ศอ นาสิกวิทยา ร้อยละ 3 เมื่อถามถึงแผนการลาออก แพทย์จบใหม่ระบุว่ายังไม่มีแผน ร้อยละ 61 มีแผนหลังจบการใช้ทุน 3 ปี ร้อยละ 15 มีแผนหลังจบการใช้ทุนปีแรก ร้อยละ 9 มีแผนหลังจบการใช้ทุน 2 ปี ร้อยละ 4 มีแผนก่อนใช้ทุนปีแรกหลังจับฉลากร้อยละ 1

น.อ.(พิเศษ) นพ.อิทธพรกล่าวว่า ส่วนผลการสำรวจเรื่องหากจำเป็นต้องลาออกจะทำอะไร ยังพบว่า แพทย์จะเรียนต่อในประเทศ ร้อยละ 44 เรียนต่อต่างประเทศ ร้อยละ 7 ประกอบอาชีพส่วนตัวหรือเปิดคลินิก ร้อยละ 8 สมัครโรงพยาบาลเอกชน หรือคลินิกเอกชน ร้อยละ 6 เรียนต่อวิชาชีพที่ไม่เกี่ยวกับแพทย์ ร้อยละ 1 เปลี่ยนอาชีพ ร้อยละ 1 อื่นๆ ร้อยละ 34

"จากสถิติดังกล่าวเห็นได้ว่า แพทย์ส่วนใหญ่อยากเรียนต่อมากที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับสถิติของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่สำรวจข้อมูลย้อนหลัง 6 ปี พบว่าแพทย์ออกจากระบบเพราะไปเรียนต่อถึงร้อยละ 53.5 นอกจากนี้ แพทย์จบใหม่ยังกังวลเรื่องภาระงาน ไม่ได้เรียนในสาขาที่ต้องการ รายได้ค่าตอบแทนน้อย เสี่ยงคดี" น.อ.(พิเศษ) อิทธพรกล่าว และว่า การสำรวจความเห็นดังกล่าวถือเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องเร่งแก้ปัญหา โดยเติมกำลังคนให้เหมาะสมกับภาระงาน

วันเดียวกัน กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ออกแถลงการณ์ถามถึงความจริงใจรัฐบาลเรื่องการรักษาประชาชน โดยมีใจความสรุปว่า การที่รัฐมนตรีว่าการ สธ. นำเรื่องเบี้ยขยันพีฟอร์พี (P4P: Pay for Performance) มาใช้กับแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล และบุคลากรในโรงพยาบาลชุมชน เป็นการทำลายล้างอุดมการณ์ของบุคลากรทางการแพทย์ในต่างจังหวัดโดยสิ้นเชิง และกำลังสร้างความแตกต่างระหว่างโรงพยาบาลในเมืองกับชนบท ดังนั้น กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพจึงสนับสนุนการต่อสู้ของชมรมแพทย์ชนบท โดยช่วยกันขึ้นป้ายในจังหวัดต่างๆ เพื่อแสดงความต้องการให้รัฐบาลประกันว่าคนชนบทจะมีหมออย่างเพียงพอ และเป็นหมอมีอุดมการณ์ และเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบเหตุการณ์นี้