บอร์ด สทศ.ตั้งแล้ว! กก.ตรวจสอบข้อผิดพลาดจัดสอบ ,ยังไม่พร้อมเฉลยข้อสอบ



 
       บอร์ด สทศ.แจงข้อสอบโอเน็ตในมือไม่มากพอที่จะนำข้อสอบและเฉลยมาเปิดสู่สาธารณะได้ ระบุเร่งออกเพิ่มในปีนี้หลายหมื่นข้อ อย่างเร็วปี 57 จึงนำออกมาได้ เผยบอร์ด สทศ.จะทำงานมาครบครึ่งวาระเดือนเม.ย.นี้ วางเป้าปฏิรูปข้อสอบให้มีมาตรฐานในรูปแบบคล้ายสากล
เช่น PISA ระบุมติบอร์ดตั้งกก.คนภายนอก 3 คนตรวจสอบปัญหาจัดสอบของ สทศ.อาทิ ระบบพิมพ์ข้อสอบ PAT 2 วิทย์ผิดและทำข้อเสนอปรับปรุงการจัดสอบ

       ศ.(กิตติคุณ)ดร .สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (บอร์ด สทศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมบอร์ด สทศ. ได้มีมติตั้งคณะกรรมการที่มาจากบุคคลภายนอก จำนวน 3 คน เพื่อที่จะมาทำหน้าที่ในการตรวจสอบปัญหาการจัดสอบต่างๆ ของสทศ. ที่ผ่านมา โดยเฉพาะปัญหาระบบการพิมพ์ข้อสอบความถนัดทางวิทยาศาสตร์ หรือ PAT 2 ชุด 200 รวมถึงให้ศึกษาระบบการทำข้อสอบที่ดีและจัดทำเป็นข้อเสนอ เพื่อนำมาปรับปรุงระบบการจัดทำข้อสอบของ สทศ.ในครั้งต่อไป

ส่วนกรณีที่ปรากฏข้อเรียกร้องให้ สทศ.นำข้อสอบพร้อมเฉลยของแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ประจำปีการศึกษา 2555 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มาเปิดเผยหรือขอให้ สทศ.ปรับข้อสอบโอเน็ตให้มีความยากง่ายระดับปานกลางนั้น ประธานบอร์ด สทศ. กล่าวว่า เรื่อง การจะนำข้อสอบออกมาเฉลย เพื่อให้ผู้เข้าสอบหายเคลือบแคลงใจนั้น สทศ.ยอมรับว่ายังทำไม่ได้ เนื่องจากปัจจุบัน สทศ.ยังมีจำนวนข้อสอบไม่มากพอที่จะนำมาใช้ได้ทันที และ หากเฉลยข้อสอบไปแล้วข้อสอบดังกล่าวก็ต้องทิ้งไป

อย่างไรก็ตาม สทศ.พยายามจะทำเรื่องดังกล่าวให้ได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงการจัดทำข้อสอบสะสมไว้ในคลังข้อสอบ เบื้องต้นคาดว่าภายในปี 2556 น่าจะได้ข้อสอบหลายหมื่นข้อ ซึ่งคาดว่าจะทำให้สทศ.พร้อมเปิดเผยข้อสอบและเฉลยได้อย่างเร็วเริ่มทำได้เร็วปีการศึกษา 2557 หรืออย่างช้าปีการศึกษา 2558 ขณะเดียวกัน สทศ.ตั้งเป้าจะปฏิรูประบบการประเมินทุกช่วงชั้นด้วยโดยเน้นข้อสอบที่อิงมาตรฐานผู้เรียน วัดการคิดวิเคราะห์ และ สามารถนำไปประยุกต์กับชีวิตจริงได้ ทั้งนี้ ส่วนที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำลังดำเนินการปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่นั้น เป็นข้อกังวลของ สทศ. ในการออกข้อสอบแต่ได้พยายามทำข้อสอบที่อิงมาตรฐาน และเน้นผู้เรียนเป็นหลัก แทนการอิงที่เนื้อหาหลักสูตร เพื่อจะได้ไม่มีปัญหากับหลักสูตรใหม่ อีกทั้งการออกข้อสอบต้องเน้นตามสมรรถนะ คุณลักษณะอันพึงประสงค์ การประยุกต์ความรู้ของผู้เรียน เพื่อ จะได้ไม่กระทบกับการเปลี่ยนหลักสูตร อาทิ วิชาคณิตศาสตร์ ที่วัดความรู้การบวก ลบ คูณ หาร ถึงแม้จะเปลี่ยนหลักสูตรอย่างไรเด็กก็ต้องบวก ลบ คูณ หารเป็น เพียงแต่รูปแบบการเรียนการสอนอาจจะต้องเปลี่ยนไป สุดท้ายก็ยังคำนวณได้ผลลัพธ์เหมือนเดิม

“ในช่วงเดือนเม.ย.นี้จะครบการทำงานครึ่งวาระของ บอร์ด สทศ. ดังนั้นทางบอร์ด สทศ.จะมีการประชุมเข้ม เพื่อทบทวนสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น และกลับมาดูเป้าหมายที่ตั้งไว้แต่แรกว่ายังมีอะไรที่ค้างอยู่บ้าง เพื่อจะได้เร่งดำเนินการ แต่ที่ต้องผลักดันแน่นอนคือ การปรับมาตรฐานข้อสอบให้มีรูปแบบคล้ายๆกับข้อสอบสากล อาทิ การวัดในโครงการวิจัยนานาชาติ หรือ PISA เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) อย่างไรก็ตามหลังจากประชุมแล้วก็น่าจะมีการปรับปรุงสิ่งต่างให้เกิดเป็น รูปธรรมได้” ศ.(กิตติคุณ)ดร.สมหวัง กล่าว