นพ.กำจร
ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยกรณีนายพงศ์เทพ
เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง
ศึกษาธิการ (ศธ.)
มีนโยบายให้สถาบันอุดมศึกษาเปิดสอนในสาขาที่ขาดแคลนเพิ่มขึ้นว่า
ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)
กำลังรวบรวมข้อมูลสาขาที่ขาดแคลนเพิ่มเติมจากคณะแพทยศาสตร์
และคณะพยาบาลศาสตร์ ที่ได้เสนอไปที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)
เพื่อขอผลิตเพิ่มแล้ว
ซึ่งการปรับการผลิตนักศึกษาตามนโยบายอาจดำเนินการไม่ทันในปีการศึกษานี้
เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยได้จัดทำแผนการรับแต่ละสาขาวิชาไว้หมดแล้ว ดังนั้น
อาจจะต้องดำเนินการในปีการศึกษา 2557 อย่างไรก็ตาม
สกอ.จะพิจารณาดูว่ามีมหาวิทยาลัยไหนที่อาจจะดำเนินการได้ก่อน
ทั้งหมดนี้ต้องนำข้อมูลเสนอให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.พิจารณาต่อไป
ส่วนกรณีการควบคุมคุณภาพในการผลิตนักศึกษาแต่ละสาขาวิชานั้น
สกอ.ได้ดำเนินการอยู่แล้ว
นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล
อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า
เห็นด้วยกับนโยบายเปิดสอนในสาขาวิชาที่ขาดแคลน
เพราะการผลิตกำลังคนของมหาวิทยาลัยต้องดูความต้องการของตลาด
หากมุ่งผลิตนิสิตนักศึกษาจนล้นตลาดจะไม่คุ้มค่า อย่าง
การรับนิสิตของจุฬาฯจะพยายามจำกัดการรับสายสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์
แต่บางสาขาวิชายังจำเป็นอยู่ ซึ่งขณะนี้จุฬาฯ
กำลังให้แต่ละคณะกำหนดสัดส่วนการรับนิสิตที่เหมาะสมในระดับปริญญาตรี
ปริญญาโทและปริญญาเอกให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด
ความเชี่ยวชาญและความเหมาะสมกับจำนวนอาจารย์
ซึ่งแนวโน้มการรับนิสิตสายสังคมศาสตร์ของจุฬาฯ จะลดลง
"ภาพรวมของอุดมศึกษาทั่วประเทศนั้น
ผมเห็นว่าขณะนี้การผลิตนิสิตนักศึกษาในสายครุศาสตร์/ ศึกษาศาสตร์ทั่วประเทศ
เปิดสอนกันมากเกินไป จะเห็นว่าเวลาเปิดสมัครสอบบรรจุครูแต่ละครั้ง
จะมีคนมาสมัครกันเยอะมาก ฉะนั้น ควรต้องทบทวนการผลิตสาขาวิชานี้
ซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จะนำไปหารือกัน"
นพ.ภิรมย์กล่าว