สทศ.ไม่เลื่อนสอบ O-NET รับอาเซียน




รร.สาธิต ยังมึนเปิด-ปิดเรียนตามมหา'ลัยดีหรือไม่ / สพฐ.ย้ำใช้ปฏิทินเดิม ปลื้มค่าเฉลี่ย O-NET ป.6 วิชาภาษาไทย-คณิต-อังกฤษพุ่ง!

     เมื่อวันที่ 28 ส.ค.55 นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)เปิด เผยถึงกรณีที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีมติเลื่อนปฏิทินแอดมิสชั่นส์ ปีการศึกษา 2557 และเลื่อนการเปิดภาคเรียนของสถาบันอุดมศึกษา เป็นช่วงวันที่ 15 ส.ค.- 15 ก.ย. เพื่อให้สอดคล้องกับประเทศในกลุ่มอาเซียนว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้หารือเบื้องต้นกับ ทปอ.แล้ว ซึ่งเห็นว่าไม่มีผลกระทบกับระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานแต่อย่างใด โดยการที่มหาวิทยาลัยเลื่อนเปิดภาคเรียนออกไปอีก 2-3 เดือนนั้น น่าจะส่งผลดีมากกว่า เพราะจะทำให้เด็กที่กำลังจะจบชั้น ม.6  ได้มีเวลาเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่มหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่ สพฐ.จะต้องเลื่อนเปิด-ปิดภาคเรียนตามอาเซียน
     เมื่อถามว่าหาก สพฐ.ไม่เลื่อนเปิด-ปิดภาคเรียน จะมีผลกระทบต่อนักศึกษาคณะครุศาสตร์และศึกศาสตร์ที่จะมาฝึกสอนในโรงเรียน สังกัด สพฐ.หรือไม่
     นายชินภัทร กล่าวว่า คงต้องรับฟังความคิดเห็นจากคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ก่อน ส่วนโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยที่จะต้องเลื่อนเปิด-ปิดภาคเรียนตามไปด้วย นั้น เรื่องนี้ก็ยังไม่ได้หารือเช่นกัน และหากในอนาคต สพฐ.ยังไม่มีมติที่จะเลื่อนเปิด-ปิดภาคเรียนตามกลุ่มประเทศอาเซียน คาดว่าโรงเรียนสาธิต ก็น่าจะมีข้อพิจารณาออกมาอีกรูปแบบหนึ่งได้ ซึ่งโรงเรียนสาธิตจะต้องไปคิดว่า จำเป็นหรือไม่หากจะต้องเลื่อนเปิด-ปิดภาคเรียนตามระบบของมหาวิทยาลัย 
     ด้านนายสัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) กล่าวว่า สำหรับ การจัดทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (ONET)  ยังคงต้องยึดตามปฏิทินการเปิด-ปิดภาคเรียนของ สพฐ. เพราะนักเรียนส่วนใหญ่ศึกษาอยู่ในสังกัด สพฐ. จึงต้องยึดประโยชน์ของคนหมู่มากเป็นหลัก
     วันเดียวกัน นายชินภัทร กล่าว ถึงผลการประชุมผู้บริหาร สพฐ. ว่า สำนักทดสอบทางการศึกษา ของ สพฐ. ได้รายงานผลการวิเคราะห์คะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (ONET) ปีการศึกษา 2554 ของระดับชั้น ป.6 ซึ่งเป็นช่วงชั้นที่ สพฐ.ให้ความสำคัญ เรื่องการพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะทางด้านภาษา และการคิดคำนวณ โดยพบว่า กลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ มีพัฒนาการแบบก้าวกระโดดชัดเจนมากที่สุด ซึ่ง วิชาภาษาไทย มีพัฒนาการสูงขึ้น 18 คะแนน จากปีที่แล้วคะแนนเฉลี่ย 31.22ปี 54 เป็น 49.51 ส่วนวิชาคณิตศาสตร์ สูงขึ้น 17 คะแนน จากปีที่แล้ว 34.85 ปี 54 เป็น 51.69 และภาษาอังกฤษ สูงขึ้น 17 คะแนน จากปีที่แล้ว 20.99 ปี 54 เป็น 37.12 สำหรับกลุ่มสาระฯ ที่มีพัฒนาการคงที่คือ วิชาวิทยาศาสตร์ จึงได้ให้กลับไปวิเคราะห์ เพื่อหาแนวทางปรับปรุงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ต่อไป 
 
Credit  สยามรัฐ