ม.เกษตรฯ เปิดหลักสูตรวิศวกรรมระบบรางรับการขนส่งของไทย-อาเซียน

 UploadImage
ม.เกษตรศาสตร์ เปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมระบบราง ครั้งแรกของประเทศไทย และวิชาแรกในคณะวิศวกรรมศาสตร์ รองรับการขนส่งระบบรางของไทยและอาเซียน

     รองศาสตราจารย์วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ใน ภาคต้น ปีการศึกษา 2555 ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้เล็งเห็นความสำคัญของวิศวกรรมระบบราง ซึ่งเป็นการขนส่งที่มีประสิทธิภาพสูง ประหยัดพลังงาน และในอนาคต จะมีการรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ส่งผลให้มีความต้องการวิศวกรและบุคลากรด้านระบบรางเป็นจำนวนมาก

     จากความสำคัญมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานชั้นนำที่เกี่ยวข้อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงได้เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนวิศวกรรมระบบราง ครั้งแรกของประเทศไทย และวิชาแรกในคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มุ่งให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี ระบบราง โดยเน้นเทคโนโลยีที่ใช้โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้กับนิสิตชั้นปีที่ 4 จำนวน 40 คน ซึ่งได้รับความสนใจและตื่นตัวของนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ในสาขาต่าง ๆ โดยเฉพาะวิศวกรรมเครื่องกล

     รองศาสตราจารย์ ดร.ธัญญะ เกียรติวัฒน์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การ เปิดรายวิชาวิศวกรรมระบบราง ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญ ในการพัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมระบบรางในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนของแผนการพัฒนาการศึกษาด้านวิศวกรรมระบบราง ซึ่งปัจจุบันการขนส่งระบบรางในประเทศไทยมีความขาดแคลนบุคลากรในการดำเนินการ ด้านต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งรถไฟฟ้าระบบต่างๆ รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง จากการศึกษาและวิจัยความต้องการจำนวนบุคลากร ในเวลาอีก 7 ปีข้างหน้า มีความต้องการบุคลากรใหม่โดยเฉพาะการรถไฟแห่งประเทศไทยมากกว่า 2000 อัตรา

     สำหรับเนื้อหาวิชาจะแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ ทางรถไฟ รถจักรและล้อเลื่อน และอาณัติสัญญาณ จะมีการเรียนการสอนทั้งในห้องเรียน เพื่อปูพื้นฐานด้านวิศวกรรมระบบราง และ มีการอบรมและศึกษาดูงาน (Field Trip) ด้าน Track Refurbishment และงานด้านอื่นๆ ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มีแผนการเปิดหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ที่แล่นบนราง เป็น 3 ระยะ คือ แผนระยะสั้น 1-2 ปี จะจัดฝึกอบรม พัฒนาทักษะเพิ่มศักยภาพบุคลากรใหม่ที่จะเข้าทำงานในภาคการขนส่ง แผนระยะกลาง 2-5 ปี พัฒนารายวิชาด้านวิศวกรรมรถไฟในระดับปริญญาตรีสาขาต่างๆ เช่น วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมอุตสาหการ และ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น เพื่อสร้างวิศวกรที่มีความพร้อมในการทำงานด้านวิศวกรรมขนส่งระบบราง และแผนระยะยาว 5-10 ปี จะพัฒนาและสร้างห้องทดสอบและวิจัยด้านการขนส่งระบบรางในประเทศ ตลอดจนสร้างบุคลากรด้านการขนส่งระบบรางที่มีความสามารถด้านวิทยาการในขั้น สูงต่อไป