เล็งฟ้องศาล ปค.ปลดทุกข์เด็กไทย กระทบ 'แป๊ะเจี๊ยะ – แอดมิดชั่น - โอเน็ต'

UploadImage

     สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทยจัดเวทีแลกเปลี่ยนความทุกข์
ทางการศึกษา จาก แป๊ะเจี๊ยะ –แอดมิดชั่น- โอเน็ต เผยจัดการผ่านฝ่ายบริหารไม่เกิดผล เล็ง
รวบรวมประเด็นความผิดยื่นศาลปกครอง

วันที่ 10 มิถุนายน สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย จัดงาน “เวทีคนทุกข์จากการศึกษาไทย : จากแป๊ะเจี๊ยะ Admission และ O-net”  ณ ห้องประชุมกาหลา ชั้น 3 โรงแรมสวนดุสิตเพลส กรุงเทพฯ โดยให้ผู้ที่มีทุกข์จากการศึกษาไทยได้มาประชุมแลกเปลี่ยนปัญหาและทุกข์ หาเหตุแห่งทุกข์ และหาทางออกจากทุกข์ โดยสร้างการเคลื่อนไหวร่วมกันเพื่อการหลุดพ้นจากทุกข์ของการศึกษาไทย

นายสุรพล ธรรมร่มดี ฝ่ายวิชาการ สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย กล่าว ถึงความทุกข์จากการศึกษา ที่พบเจอในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรงเรียนขนาดเล็กที่กำลังถูกยุบควบรวม อันเนื่องจากกระทรวงศึกษาปล่อยปะละเลยไม่พัฒนาคุณภาพ และใช้วิธียุบทิ้ง  นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการทดสอบการศึกษาระดับชาติ หรือ โอเน็ต ที่จะมีการบังคับให้นักเรียนสอบแล้วก็จบให้ได้ ซึ่งทำให้มีผลกระทบอย่างมากในเรื่องของการไปกวดวิชาเพิ่มขึ้น หรือเด็กที่เริ่มเบื่อกับการเรียนที่เอาเกรด ก็จะเลิกเรียนกลางคัน เป็นต้น

นายสุรพล กล่าวว่า การรับนักเรียนเข้าศึกษา  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)  ออกระเบียบเปิดช่องให้โรงเรียนสามารถเปิดรับนักเรียนใหม่ นอกโรงเรียนได้ 20% ของจำนวนนักเรียนที่จะขึ้นไปเรียนต่อในชั้นต่อไป ซึ่งโรงเรียนจะใช้ช่องนี้เรียกรับเงิน รวมถึงการที่จะคัดนักเรียนของตนเองที่มีคุณภาพต่ำๆ ออกไป และรับนักเรียนที่มีคุณภาพเข้ามาแทน

"วิธีการข้างขัดแย้งกับเจตนาของมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่ว่า การจัดการศึกษาต้องให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกัน ในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่ว ถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย" นายสุรพล กล่าว และว่า ที่ผ่านมาเราใช้ช่องทางไปประชุมกับคณะทำงานของทางกระทรวง แต่ไม่เกิดผล ระบบราชการก็เป็นแบบเดิม ซึ่งก็วนเวียนอยู่เช่นนี้ เป็น “เขาวงกต” ไม่มีการแก้ไข หรืออย่างเรื่อง แป๊ะเจี๊ยะ ก็เป็นการกระทำผิดกฎหมาย ฉะนั้น จึงทางสมาคมฯ มีแนวคิดที่จะฟ้องศาลปกครอง เพราะหากตุลาการเป็นที่พึ่งทางการเมืองได้ ก็ต้องเป็นที่พึ่งทางการศึกษาได้ เช่นกัน  ด้วยเหตุว่า เยาวชนกำลังได้รับความอยุติธรรมทางการศึกษามากมายหลายเรื่อง ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องใช้กลไกตุลาการเข้าไปตรวจสอบการทำงานของราชการด้วย

นายสุรพล กล่าวด้วย หลังจากนี้ จะเริ่มหาประเด็นที่ สพฐ. หรือหน่วยงานอื่นๆ เช่น  สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) (สมศ.) ทำผิดกฎหมาย แล้วจะทำสำนวนฟ้องศาลปกครอง โดยเฉพาะเรื่องโอเน็ต ที่จะมีการเตรียมออกระเบียบให้นักเรียนใช้คะแนน โอเน็ต 20% ในการจบการศึกษา เนื่องจากเห็นว่า วิธีการนี้เป็นการตัดการศึกษา และหวังว่าจะยุบเลิก สมศ. หากยังใช้วิธีการประเมิน โดยขาดกลไกการพัฒนาคุณภาพที่ตามมาด้วย หรือขาดมาตรการในการพัฒนาคุณภาพที่ดีพอตามมาด้วย ถ้า สมศ.ทำได้แค่ประเมินตกไม่ตกอย่างเดียวก็ควรยุบ

ที่มา : สำนักข่าวอิศรา