"แพทย์เฉพาะทาง" ถูกดูดรับ AEC ชง รพ.เอกชนปั๊มเพิ่ม ?

UploadImage

    ในปี 2558 หรือ 3 ปีจากนี้ ประเทศไทยจะเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จับสัญญาณในวงการสาธารณสุข 1 ใน 7 สาขาอาชีพที่เกี่ยวพันโดยตรง ปรากฏเป็นความกังวลต่อภาวะ “สมองไหล”

สถานการณ์แพทย์ในประเทศไทย เรียกได้ว่าอยู่ในภาวะ “ขาดแคลน” นพ.โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ฉาย ภาพว่า อัตรากำลังคนของสธ.ในปี 2555 โดยเฉพาะสาขาแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกร ยังมีความต้องการเพิ่มอีก 20-60% เพื่อกระจายบริการประชาชนอย่างทั่วถึง

สำหรับภาพรวมทั่วประเทศ ยังมีความต้องการแพทย์อีกกว่า 4 หมื่นคน เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราส่วน แพทย์ 1 คน ต่อ ประชากร 1,800 คน นอกจากนี้ยังต้องการทันตแพทย์ 1.2 หมื่นคน เภสัชกรอีก 1.5 หมื่นคน เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราส่วน ทันตแพทย์ 1 คน ต่อประชากร 1,600 คน และเภสัชกร 1 คน ต่อประชากร 7,500 คน

รองปลัดโสภณ ให้รายละเอียดอีกว่า ข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา พบบุคลากรทั้ง 3 สาขาวิชาชีพที่อยู่ในสังกัดสธ.ไม่เพียงพอ โดยมีแพทย์เพียง 1.2 หมื่นคน คิดเป็น 59% ของกรอบอัตราที่ควรจะเป็น มีทันตแพทย์ 3,700 คน คิดเป็น 44% และมีเภสัชกร 5,400 คน คิดเป็น 80%

อย่างไรก็ดี ข้อวิตกภาวะสมองไหลในข้างต้นพุ่งเป้าไปยัง “แพทย์เฉพาะทาง” ซึ่งมีแนวโน้มสูงที่จะไหลออกสู่ต่างประเทศ และหากเป็นจริงเช่นนั้น ยิ่งเร้าให้ปัญหาขาดแคลนทรัพยากรบุคลากรที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ขยายแผล ใหญ่มากขึ้น

เวลาร่วม 10 ปี คือระยะทางในการผลิต “แพทย์เฉพาะทาง” 1 คน ปัจจุบันผู้ที่แบกรับภาระการผลิตแพทย์มีเพียงวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์เท่านั้น

ต่อปัญหาดังกล่าว นพ.กำพล พลัสสินทร์ ประธานชมรมโรงพยาบาลเพื่อการพัฒนาระบบประกันสังคม เสนอว่า ทางเลือกหนึ่งเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตแพทย์เฉพาะทางและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้ เพียงพอ คือการเปิดให้โรงพยาบาลเอกชนที่มีศักยภาพสูง เช่น โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ร่วมผลิต

นพ.กำพล อธิบายว่า ระยะเวลาการผลิตแพทย์ 1 คน เริ่มจากเรียนในวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ 6 ปี จากนั้นหากจะต่อสาขาอายุรกรรมต้องเรียนอีก 3 ปี จึงสามารถต่อแพทย์เฉพาะทางได้ แน่นอนว่าจะได้แพทย์เฉพาะทาง 1 คน ต้องใช้เวลาร่วม 10 ปี แต่แนวทางที่เสนอจะให้โรงพยาบาลเอกชนมารับช่วงต่อหลังจากจบวิทยาลัยแพทย์ ศาสตร์แล้ว ซึ่งแพทย์เฉพาะทางบางสาขาอาจเริ่มเรียนในปีที่ 7 เท่านั้น

เหตุที่คุณหมอรายนี้เห็นว่าโรงพยาบาลเอกชนควรมีส่วนร่วมในการผลิตแพทย์ คือโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ในปัจจุบันมีอาจารย์แพทย์สาขาเฉพาะทาง เช่น หัวใจ สมอง ผิวหนัง ปอด ไต ทางเดินหายใจ ประจำอยู่มากกว่ามหาวิทยาลัยแพทย์หรือโรงพยาบาลรัฐ นอกจากนี้โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ยังมีเทคโนโลยี ระบบไอที วิวัฒนาการทางการแพทย์ สูงกว่าโรงพยาบาลอื่นๆ จึงเชื่อว่าโรงพยาบาลเหล่านี้พร้อมจะให้ความร่วมมือและพร้อมผลิตแพทย์

คุณหมอกำพล ระบุว่า โรงพยาบาลเอกชนยังไม่สามารถผลิตแพทย์ได้เนื่องจากถูกกีดกันจากภาครัฐ เนื่องจากเกรงว่าโรงพยาบาลเอกชนจะผลิตมาแข่งขัน หรือผลิตไม่ได้คุณภาพ

“ตอนนี้โรงเรียนแพทย์เขายังไม่ลืมตา ยังกีดกันไม่ให้โรงพยาบาลเอกชนมาผลิตแพทย์แข่ง ทั้งๆ ที่ในหลายประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เปิดช่องให้โรงพยาบาลเอกชนผลิตแพทย์เฉพาะทางทั้งสิ้น เบื้องต้นผู้ได้คุยกับผู้อำนวยการ 2 โรงพยาบาลข้างต้นแล้ว ท่านยืนยันว่ามีความพร้อม”นายแพทย์รายนี้กล่าว

นพ.กำพล กล่าวอีกว่า ท้ายที่สุดขึ้นอยู่กับแพทยสภาว่าจะยอมให้โรงพยาบาลเอกชนผลิตหรือไม่ เพราะหากแพทยสภาเห็นด้วยและออกประกาศ ก็สามารถบังคับใช้ได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หรือคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ด้าน นพ.อำนาจ กุสลานันท์ นายกแพทยสภา ระบุว่า แพทยสภาพร้อมสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว และพร้อมปรับแก้ระเบียบเพื่อเปิดช่องให้โรงพยาบาลเอกชนที่มีศักยภาพสามารถ เข้าร่วมผลิตแพทย์เฉพาะทางได้ แต่ย้ำว่าโรงพยาบาลเหล่านั้นต้องมีความพร้อมจริงๆ

“ผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ แน่นอนว่าต้องมีฐานะดีและต้องการได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญหรือแพทย์ เฉพาะทางที่มีความสามารถ คำถามคือมันจะสวนทางกับข้อเสนอให้โรงพยาบาลเอกชนผลิตแพทย์หรือไม่ นั่นเพราะคนไข้อาจจะได้รับการรักษาจากแพทย์ฝึกหัด ซึ่งคนไข้อาจไม่ยินยอม สุดท้ายโรงพยาบาลเอกชนก็จะไม่มีคนไข้สำหรับฝึกแพทย์” นพ.อำนาจกล่าว

นพ.อำนาจ กล่าวอีกว่า หากโรงพยาบาลเอกชนสามารถจัดการปัญหาเหล่านี้ได้ ก็ให้เสนอโครงการมายังแพทยสภา ยืนยันว่าแพทยสภาพร้อมพิจารณาและเปิดช่องให้ อย่างไรก็ตามโครงการเหล่านั้นจะต้องมีมาตรฐานและผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มงวด จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเปิดผลิตแพทย์ได้ โดยปัจจุบันมีหลากหลายมหาวิทยาลัยที่ต้องการเปิดสอนคณะแพทย์ศาสตร์แต่ยังไม่ ผ่านเกณฑ์

อย่างไรก็ตาม นายกแพทยสภา ยอมรับว่า ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว สถานการณ์แพทย์เฉพาะทางจะเป็นอย่างไร เพราะที่ผ่านมามีการวิเคราะห์ใน 2 ทาง หนึ่งคือแพทย์จะไหลเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมาก อีกหนึ่งคือแพทย์จะไหลออกหรือเรียกว่าภาวะสมองไหล อย่างไรก็ตามสถานการณ์ในประเทศไทยในขณะนี้คือมีแพทย์เฉพาะทางที่ขาดแคลน เพียงบางสาขาเท่านั้น

อย่างไรก็ดี นี่เป็นเพียงหนึ่งในข้อเสนอเพื่อหาทางออกต่อปัญหา ทว่านอกเหนือจากการผลิตแพทย์เฉพาะทางเพิ่มแล้ว "การกระจาย" แพทย์ก็ต้องทำควบคู่กันไป

นั่นเพราะก่อนหน้านี้ นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เคยให้ข้อมูลไว้ว่า เมื่อเปรียบเทียบแพทย์ในเขตเมืองพื้นที่กทม.ที่มีอัตราส่วนแพทย์ต่อผู้ป่วย 1 ต่อ 700 ประชากร ชัดเจนว่าสูงกว่าพื้นที่ชนบทซึ่งมีเพียง 1 ต่อ 1 หมื่นประชากร และยังสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของอีกหลายประเทศ สะท้อนถึงความล้มเหลวเรื่องการกระจาย

นงลักษณ์ พะไกยะ ผู้จัดการสำนักงานวิจัยและจัดการกำลังคนด้านสุขภาพ (สวค.) ระบุว่า แม้สธ.จะสามารถผลิตแพทย์สู่ระบบเพิ่ม แต่ปัญหาขาดแคลนแพทย์และปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการยังคงอยู่ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลและชนบท

เมื่อเปรียบเทียบอัตราส่วนแพทย์ในชุมชนกับแพทย์ทั่วประเทศ พบว่าอยู่ที่ 17% แต่กลับต้องดูแลประชากรกลุ่มใหญ่กว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ นั่นเท่ากับแพทย์กลุ่มนี้มีภาระหนักมาก หากพิจารณาตัวเลขยิ่งชัดเจนว่า ประเทศไทยต้องการกระจายแพทย์ต่อประชากร คือ 1 : 2,000 ทว่ากลับพบว่าบางจังหวัดในภาคอีสานมีอัตรา 1 : 8,000 ส่วนในพื้นที่กทม.อัตราเพียง 1 : 700-800 เท่านั้น

ด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดสธ. ระบุแนวทางการแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ว่า สธ.ดำเนินการโดยเน้นการกระจายแพทย์ในชนบท โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาจัดผลิตแพทย์เพิ่มชนบทเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ โดยโครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปัจจุบันสามารถผลิตแพทย์ได้ 12 รุ่น รวม 3,219 คน จากเป้าหมายทั้งหมด 11,495 คน

เห็นได้ว่าการผลิตแพทย์จากอดีตจนถึงปัจจุบันช่วยให้สถานการณ์ขาดแคลนแพทย์ดี ขึ้นเพียงเล็กน้อย และในอนาคตอันใกล้ที่ประเทศไทยจะต้องตั้งรับกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอา เซียนซึ่งยังไม่สามารถประเมินได้ว่าปลายทางจะเป็นอย่างไร

ดังนั้นข้อเสนอให้โรงพยาบาลเอกชนร่วมผลิตแพทย์เฉพาะทางถือว่ารับฟังได้ แต่หากเปิดไฟเขียวจริงต้องมีคำอธิบายต่อสังคมว่าผลิตเพื่อประชาชนทุกคน ทุกระดับ ทุกฐานะ ไม่ใช่ผลิตขึ้นเพื่อป้อนเข้าสู่โรงพยาบาลเอกชนเพียงอย่างเดียว

เช่นนั้นแล้ว จะถูกมอบได้ว่า โรงพยาบาลเอกชน "ชุบมือเปิบ" ดึงหมอจากระบบที่กำลังขาดแคลนมาศึกษาต่อเพียงเพราะต้องการ "ต่อยอด" ทางธุรกิจของตัวเองเท่านั้น

ข่าว/ภาพจากสำนักข่าวอิศรา