แพทยสภา ผลักดันเปิดหลักสูตรหมออินเตอร์รับประชาคมอาเซียน


      ASTVผู้ จัดการรายวัน - แพทยสภา รับประชาคมอาเซียนปี 2558 เน้นแพทย์เรียนหลักสูตรอังกฤษ พัฒนาศักยภาพ พร้อมคุมใบอนุญาตแพทย์ต่างชาติ ทำงานในไทยแค่ 1 ปี
  
    
       ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์ นายกแพทยสภา กล่าวถึงความคืบหน้าการผลักดันหลักสูตรแพทย์นานาชาติว่า จริงๆ ไม่ได้ใช้คำว่าหลักสูตรแพทย์นานาชาติ เนื่องจากเดิมทีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒได้ขออนุมัติหลักสูตรดังกล่าว แต่ถูกแรงต้านทั้งเอ็นจีโอ ทั้งสภามหาวิทยาลัย โดยกังวลว่าหากมีหลักสูตรดังกล่าวจะเป็นการเอื้อให้แพทย์มุ่งรักษาแต่ชาว ต่างชาติมากกว่าคนไทย จึงมีการปรับเปลี่ยนจากหลักสูตรแพทย์นานาชาติ เป็นหลักสูตรแพทยศาสตร์ภาษาอังกฤษแทน (English program) ซึ่งแพทยสภาได้อนุมัติและกำหนดเงื่อนไขให้รับเฉพาะนักเรียนไทย ผู้ที่ถือสัญชาติไทยเท่านั้น และต้องชดใช้ทุนรัฐบาลเป็นเวลา 3 ปี
      
       ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กล่าวอีกว่า หลัก สูตรนี้ไม่แตกต่างจากหลักสูตรแพทยศาสตร์ แต่จะมีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อรองรับเด็กนักเรียนที่ศึกษาจบจากโรงเรียนนานาชาติให้มีโอกาสเท่าเทียม ในการศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งเด็กกลุ่มที่มีศักยภาพเพียงพอแต่ไม่สามารถสอบเข้าในระบบปกติได้เนื่อง จากติดขัดด้านภาษา ทำให้พ่อแม่ของเด็กกลุ่มนี้ส่งลูกไปเรียนต่อด้านการแพทย์ในต่างประเทศ ซึ่งการพัฒนาหลักสูตรดังกล่าวไม่ได้มีแค่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเท่า นั้น มหาวิทยาลัยต่างๆโรงเรียนแพทย์มีการพัฒนาทั้งสิ้น เนื่องจากเล็งเห็นว่าภาษาเป็นสิ่งสำคัญ และควรผลักดันเพื่อรองรับประชาคมอาเซียนในปี 2558 ตรงนี้สำคัญ เพราะจะทำให้ต่างชาติเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยมากขึ้น 
      
       นายกแพทยสภา กล่าวอีกว่า ส่วนการรองรับประชาคมอาเซียนด้านอื่นๆนั้น แพทยสภามีการเตรียมพร้อมตลอด อย่างการสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพแพทย์ก็มีการควบคุม ทั้งแพทย์คนไทยและต่างชาติ โดยหากเป็นแพทย์ไทยจะมีการสอบ 3 ส่วน โดยส่วนที่ 1 และ 2 จะเป็นข้อสอบภาษาอังกฤษและภาษาไทย ส่วนข้อสอบส่วนที่ 3 เป็นภาคปฏิบัติ จะเน้นการสื่อสารกับคนไข้ จึงต้องใช้ภาษาไทย เพราะต้องมีการซักประวัติ พูดคุย เพื่อลดปัญหาการเข้าใจคลาดเคลื่อน และอาจนำไปสู่การฟ้องร้องเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งหากแพทย์สามารถสอบผ่านก็จะได้รับใบประกอบวิชาชีพฯมีอายุตลอดชีพ แต่ล่าสุดแพทยสภาอยู่ระหว่างหารือว่าจะมีการปรับเปลี่ยนอาจกำหนดอายุ 1 ปีหรือ5 ปี ซึ่งยังไม่ชัดเจน โดยการกำหนดอายุใบประกอบวิชาชีพฯ จะช่วยให้แพทย์มีการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทันต่อวิวัฒนาการวงการแพทย์ ยิ่งประชาคมอาซียนเข้ามาการพัฒนาก็ต้องมากขึ้น เนื่องจากคนไข้ต่างชาติก็จะมีทางเลือกมากขึ้น แพทย์ไทยจึงจำเป็นต้องเป็นทางเลือกชั้นแนวหน้าด้วย
      
       “ส่วนต่างชาติที่จะเข้ามาสอบเป็นแพทย์ในประเทศไทยนั้น เดิมทีในการประชุมประชาคมอาเซียนที่ผ่านมาเคยพูดว่า หากแพทย์ต่างชาติสามารถสอบใบประกอบวิชาชีพฯของประเทศสมาชิกใดก็ตาม สามารถใช้ใบดังกล่าวเข้าทำงานในประเทศกลุ่มสมาชิกอื่นได้ ซึ่งไทยไม่เห็นด้วย รวมทั้งหลายๆประเทศก็เห็นเช่นเดียวกัน เพราะแต่ละประเทศข้อกำหนดต่างกัน เรื่องนี้จึงตกไป โดยไทยยืนยันใช้หลักเกณฑ์ตนเอง คือ หากแพทย์ต่างชาติคนใดต้องการเข้าทำงานที่ประเทศไทย ต้องมาสอบใบอนุญาตชั่วคราว เพื่อให้ได้เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขานั้นๆ โดยใบอนุญาตจะมีอายุ 1 ปี ส่วนแพทย์ต่างชาติคนใดที่สามารถสอบภาษาไทยได้ และได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพฯเหมือนแพทย์ไทยทั่วไปก็ต้องให้เขา เนื่องจากหากมีความสามารถและผ่านการทดสอบก็ต้องเป็นไปตามกฎ” ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กล่าว

ที่มา  http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000058973