เอาแน่ !! ศธ.เล็งใช้ O-NET 50% เป็นผลการเรียน

UploadImage

สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ - ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประชุมคณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เมื่อ
วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๕ ที่สำนักงาน สทศ. อาคารพญาไท โดยได้เห็นชอบข้อเสนอของ สทศ.ในการพัฒนาระบบการสอบ O-Net และการจัดทำคลังข้อสอบ

การสอบ O-Net (Ordinary National Educational Test) ในช่วงชั้นที่ ๒ (ป.๖) ช่วงชั้นที่ ๓ (ม.๓) และช่วงชั้นที่ ๔ (ม.๖)

รมว.ศธ.เห็นชอบข้อเสนอการจัดสอบ O-Net ชั้น ป.๖ ม.๓ และ ม.๖ เพื่อสร้างมาตรฐานของประเทศ โดยในช่วงปีแรกจะใช้คะแนน O-Net ต่อคะแนนสอบของโรงเรียนในสัดส่วน ๒๐:๘๐ และในปีต่อๆ ไปจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงสัดส่วน ๕๐:๕๐ เป็นการสร้างมาตรฐานที่เท่าเทียมแก่ผู้จบการศึกษา ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ในโรงเรียนใด ขณะเดียวกัน ครูอาจารย์ ก็จะได้สอนให้นักเรียนมีมาตรฐานเดียวกัน

โดยมอบหมายให้เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้ง ผอ.สทศ. และผู้เกี่ยวข้อง ประชุมหารือยกร่างประกาศ พร้อมทั้งจัดทำประชาพิจารณ์สอบถามความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งข้อกังวลของพ่อแม่ ผู้ปกครองในเรื่องการออกข้อสอบให้ตรงตามที่เรียน และการเตรียมตัวสอบ จากนั้นจะนำเรื่องนี้เสนอขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรี ให้ถือเป็นนโยบายของรัฐบาล เพื่อจะขอรับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการของ สทศ.เพิ่มเติมอย่างเพียงพอ

อย่างไรก็ตาม จะเร่งดำเนินการเพื่อให้ประกาศได้ทันก่อนเปิดภาคเรียนปีการศึกษา ๒๕๕๕ เพื่อให้นักเรียน ครู ผู้ปกครองได้เตรียมตัวเพื่อเข้าสู่ระบบใหม่ ซึ่งถือเป็นการยกระดับมาตรฐานการศึกษาของไทยด้วย

 เห็นชอบจัดทำคลังข้อสอบ

รมว.ศธ.เห็นชอบให้มีการวางแผนจัดทำคลังข้อสอบ เพราะการสอบแต่ละครั้งมีจำนวนข้อสอบน้อย ทำให้ไม่พร้อมต่อการจัดสอบทั่วประเทศหรือจัดสอบหลายครั้ง และในอนาคตจะจัดทำคลังข้อสอบอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา ๓ ปี โดยจะมีการเพิ่มข้อสอบเข้าสู่คลังทุกปี ในจำนวนที่มีความเหมาะสมในแต่ละวิชา

นอกจากนี้ ข้อสอบ O-Net ที่ใช้สอบแล้ว จะนำไปให้ครูได้ศึกษา เพื่อปรับวิธีการสอนอย่างเป็นระบบ และนำมาสอนให้กับนักเรียน ซึ่งไม่ใช่การเฉลยข้อสอบหรือการติว แต่เป็นการพัฒนาทักษะ ทั้งครูผู้สอนให้ได้รู้มาตรฐานของข้อสอบ และนักเรียนก็จะได้รับโอกาสในการเรียนที่ดีขึ้น ถือเป็นการเรียนการสอนแบบใหม่ที่ควบคู่กับการเรียนการสอนที่ใช้เทคโนโลยี เป็นสื่อ เช่น คอมพิวเตอร์แท็บเล็ต เพื่อจุดมุ่งหมายให้นักเรียนทั้งประเทศมีโอกาสได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ อย่างเท่าเทียมกัน