แนวทางสมัครเข้าร่วม“เรียนแลกเปลี่ยนอาเซียน”

UploadImage

โครงการ “เรียนแลกเปลี่ยนอาเซียน”ของ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ. ที่เปิดโอกาสดี ๆ ให้นักศึกษาไทยเราทั่วประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน พัฒนานักศึกษาไทยให้พร้อมกับการแข่งขันในตลาดแรงงานในภูมิภาค และส่งเสริมการถ่ายโอนหน่วยกิตกลับมายังสถาบันอุดมศึกษาไทย รวมทั้งใช้การศึกษานำไปสู่การกระชับสัมพันธ์กับประเทศสมาชิกอาเซียน

                ในขณะนี้กำลังดำเนินการเปิดรับสมัครกันอยู่นะครับ และจะปิดในวันที่ 30 มีนาคม นี้ ถ้าน้อง ๆ นักศึกษาที่สนใจ (ซึ่งควรจะสนใจอย่างยิ่ง) ก็ดูข้อมูลรายละเอียดให้เข้าใจก่อนได้ว่า จะไปทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่และอย่างไร

                วันนี้ผมหยิบเรื่องนี้มาขยายความต่อ เพื่อให้น้อง ๆ ได้ดูกันอย่างเต็มที่ก่อนตัดสินใจโดยกิจกรรมของโครงการหลัก ๆ ก็คือการจัดสรรทุนให้นักศึกษาที่ศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาไทยไปศึกษาในสาขา วิชาต่างๆ ในสถาบันอุดมศึกษาของประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นระยะเวลา 1ภาคการศึกษาแต่ไม่เกิน 4เดือน และถ่ายโอนหน่วยกิตกลับมายังสถาบันอุดมศึกษาต้นสังกัดในประเทศไทย

                               สำหรับแนวทางการสมัครเข้าร่วมโครงการ อย่างละเอียดก็จะมีดังนี้ครับ...

ความเป็นมาของโครงการ
การแลกเปลี่ยนนักศึกษาเป็นกิจกรรมที่สถาบันอุดมศึกษาในทุกภูมิภาคของโลก ดำเนินการเนื่องจากหลายๆ เหตุผล ได้แก่ความต้องการยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษา ต้องการพัฒนาคนเพื่อเป็นกำลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ต้องการดึงองค์ความรู้จากนานาชาติมาพัฒนาประเทศ การประชาสัมพันธ์การศึกษาและวัฒนธรรมของประเทศให้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศ และอาเซียนจะเข้าสู่การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนเต็มรูปแบบภายในปี 2558 ผลกระทบจากการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนต่อการศึกษาได้แก่การเปิดเสรีทางการ ศึกษาและการเคลื่อนย้ายกำลังคนเสรีในตลาดแรงงานของภูมิภาค โดยตลาดแรงงานจะมีโอกาสในการเลือกจ้างบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถและความชำนาญมากขึ้น การแข่งขันเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานสูงขึ้น

ปัจจัยกระตุ้นจากภายนอกนี้ส่งผลให้สถาบันอุดมศึกษาต้องเตรียมนักศึกษาที่ กำลังจะเป็นบัณฑิตให้เป็นผู้มีความรอบรู้และสามารถที่จะเป็นพลโลกเพื่อแข่ง ขันได้ในตลาดแรงงานระดับภูมิภาคและระดับสากล การให้นักศึกษาได้มีโอกาสไปศึกษาในต่างประเทศในช่วงเวลาสั้นๆ เป็นกลไกที่สำคัญยิ่งในการกระตุ้นให้นักศึกษาได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันใน สังคมที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม เรียนรู้วิธีการศึกษาในประเทศอื่นๆ เรียนรู้การสื่อสารข้ามวัฒนธรรม เรียนรู้วิชาการใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากวิชาที่สอนในมหาวิทยาลัยต้นสังกัด เรียนรู้ภาษาต่างประเทศทั้งด้านวิชาการและการสื่อสาร ได้เปิดโลกทัศน์สู่สากลรวมทั้งได้เครือข่ายในกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งจะเป็น ประโยชน์ต่อการทำงานในอนาคต

สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาจึงจัดทำโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาไทยและอา เซียนเพื่อพัฒนาศักยภาพนักศึกษาไทย และขณะเดียวกันก็ใช้การศึกษานำไปสู่            การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน โดยให้นักศึกษาสัญชาติไทยที่ศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาไทยทั้งรัฐและเอกชนได้ รับจัดสรรทุนไปศึกษาระยะสั้นเป็นเวลา 1 ภาคการศึกษา แต่ไม่เกิน 4 เดือนในสาขาวิชาต่างๆ ในสถาบันอุดมศึกษาของประเทศสมาชิกอาเซียนและสามารถถ่ายโอนหน่วยกิตกลับมายัง สถาบันอุดมศึกษาต้นสังกัดในประเทศไทยได้

การดำเนินโครงการ
จัดสรรทุนการศึกษาให้นักศึกษาไทยระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 2 ขึ้นไปจากทุกสถาบันอุดมศึกษาไทยไปลงทะเบียนเรียน (และต้องไม่ใช่การฝึกอบรมหรือดูงาน) ระยะเวลา 1 ภาคการศึกษาแต่ไม่เกิน
4 เดือนในสถาบันอุดมศึกษาของประเทศสมาชิกอาเซียนประกอบด้วย 1) เนการาบรูไนดารุสซาลาม
2) ราชอาณาจักรกัมพูชา 3) สาธารณรัฐอินโดนีเซีย 4) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 5) มาเลเซีย 6) สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ 7) สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ 8) สาธารณรัฐสิงคโปร์ 9) สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

การถ่ายโอนหน่วยกิต
นักศึกษาไทยลงทะเบียนเรียนอย่างน้อย 2 รายวิชาและต้องถ่ายโอนหน่วยกิตกลับมายังสถาบันอุดมศึกษาต้นสังกัดอย่างน้อย 6 หน่วยกิต โดยต้องแสดงหลักฐานว่ามีการถ่ายโอนหน่วยกิต
ระหว่างกัน นักศึกษาสามารถสมัครไปศึกษาได้ทุกสาขาวิชา

คุณสมบัติของนักศึกษาที่สมัครเข้าร่วมโครงการ
-ต้องเป็นนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาไทยและนักศึกษาต้องมีสัญชาติไทย

-มีหนังสือรับรองจากสถาบันอุดมศึกษาว่าผู้สมัครมีสุขภาพกายและจิตแข็งแรง

-กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรี (ชั้นปีที่ 2 ขึ้นไป) และยังคงสถานภาพนักศึกษาณ วันที่ที่สมัครเข้าร่วมโครงการ                                                       
   
-มีคะแนนเฉลี่ยสะสมจนถึงภาคการศึกษาสุดท้ายก่อนวันสมัครไม่ต่ำกว่า 2.75

-รายวิชาที่ไปศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาเจ้าภาพ (Host institutions) ต้องเป็นรายวิชาที่สัมพันธ์กับวิชาเอกหรือโทที่ศึกษาอยู่

-มีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษหรือภาษาที่ใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนใน สถาบันอุดมศึกษาเจ้าภาพที่จะไปศึกษาได้ดี โดยผู้สมัครจะต้องยื่นหลักฐานดังนี้

(1) กรณีความสามารถทางภาษาอังกฤษ ต้องแสดงผลสอบ TOEFL ไม่ต่ำกว่า 500 คะแนน (Paper-based) หรือ 173 ตามระบบ Computer-based หรือ 61 ตามระบบ Internet-based หรือผลสอบ IELTS ไม่ต่ำกว่า 5.0 หรือมีผลคะแนนภาษาอังกฤษ Chulalongkorn University Test of English Proficiency (CU-TEP) หรือ Thammasat University General English Test (TU-GET) ที่เทียบได้ไม่ต่ำกว่านี้

 (2) ผู้สมัครที่ใช้ภาษาอื่นๆ นอกเหนือจากข้อ (1) ในการศึกษา ณ สถาบันอุดมศึกษา
ของประเทศสมาชิกอาเซียนต้องมีสำเนาระเบียนผลการศึกษา (Transcript of record) ที่แสดงว่ามี              การเรียนภาษานั้นๆ และมีความสามารถทางภาษานั้นๆ ในระดับดี (รายวิชาที่เกี่ยวข้องต้องได้เกรด B)

-นักศึกษาที่ไปศึกษาสามารถเข้าร่วมโครงการได้ตลอดภาคการศึกษาตามระบบการ ศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาที่สมัครไปแลกเปลี่ยน (อาจเป็น Semester, Trimester หรือ Quarter) แต่ไม่เกิน 4 เดือน

-ผู้สมัครทุนต้องผ่านการพิจารณาคัดเลือกและเสนอชื่อจากสถาบันอุดมศึกษาต้นสังกัด

ค่าใช้จ่ายที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาให้การสนับสนุน
-ค่าเบี้ยเลี้ยงเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายประจำเดือนและที่พักแบบเหมาจ่ายไม่เกินจำนวน 800 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน

      ค่าเดินทางดังนี้
-ค่าโดยสารเครื่องบินไป-กลับระหว่างประเทศ (อัตราตั๋วราชการชั้นประหยัด) ซึ่งออกโดยบริษัทการบินไทยจำกัด (มหาชน) จากประเทศไทยไปยังสนามบินปลายทางประเทศสมาชิกอาเซียน (ไม่รวมค่าบัตรโดยสารเครื่องบินภายในประเทศ) หากมีค่าใช้จ่ายเกินจากอัตราค่าโดยสารที่กำหนด ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเอง

-ในกรณีที่มีความจำเป็นจะต้องซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินของสายการบินอื่น หรือประสงค์จะซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ผ่านตัวแทนจำหน่ายสามารถดำเนินการได้ โดยให้ถือปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงการคลังที่ กค 0408.2/ว 112 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2546 ทั้งนี้ ให้เบิกจ่ายได้ไม่เกินราคาที่จ่ายจริงแต่ต้องไม่เกินอัตราตั๋วราชการชั้น ประหยัดที่กำหนดไว้

-ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถเดินทางโดยพาหนะได้สำหรับบางประเทศที่เป็นเพื่อน บ้านของประเทศไทยแต่ต้องเบิกตามราคาแต่ละบุคคล โดยเบิกในอัตราที่ประหยัดสุดตามระเบียบของทางราชการและมิให้จ้างเหมาพาหนะ

  - ค่าวีซ่าและภาษีสนามบินเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 5,000 บาท ผู้สมัครรับทุนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกินกว่า 5,000 บาทเอง

  -ค่าเบี้ยประกันชีวิตและอุบัติเหตุเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 5,000 บาท ผู้สมัครรับทุนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกินกว่า 5,000 บาทเอง

สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาไม่ได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนสำหรับค่าลง ทะเบียนเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษา หากเข้าร่วมโครงการไม่ครบตามเวลาที่ได้รับอนุมัติ จะต้องคืนค่าเบี้ยเลี้ยง/ค่าที่พักที่อยู่ไม่ครบโดยคิดเป็นรายวัน

 หลักฐานการสมัคร
-แบบฟอร์มใบสมัครที่กรอกข้อความครบถ้วน (ตัวจริง) จำนวน 1 ชุด

-หนังสือเสนอชื่อจากสถาบันอุดมศึกษาต้นสังกัด (Home institutions) ลงนามโดยอธิการบดีหรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจ (ตัวจริง) จำนวน 1 ฉบับ

-หนังสือตอบรับจากสถาบันอุดมศึกษาเจ้าภาพ จำนวน 1 ฉบับ

-สำเนาระเบียนผลการศึกษา (Transcript of record) จนถึงภาคการศึกษาสุดท้ายก่อนวันสมัคร จำนวน 1 ชุด (หากใช้สำเนา ต้องลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง)

-หลักฐานแสดงความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษหรือภาษาที่ใช้เป็นสื่อการเรียน การสอนในสถาบันอุดมศึกษาเจ้าภาพที่จะไปแลกเปลี่ยน จำนวน 1 ชุด

-แบบฟอร์มการรับรองการถ่ายโอนหน่วยกิต

-หนังสือรับรองสุขภาพจากสถาบันอุดมศึกษาต้นสังกัด

ระยะเวลาดำเนินโครงการ
-สถาบันอุดมศึกษาจัดลำดับและเสนอชื่อผู้สมัครไม่เกิน 5 คน ภายในวันที่ 30 มีนาคม 2555

-สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาประกาศผลภายในวันที่ 30 เมษายน 2555

-ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องเดินทางก่อนวันที่ 30 กันยายน 2555

รายละเอียด ดาวน์โหลดได้จาก www.inter.mua.go.th หัวข้อAnnouncement