กระทรวง
ศึกษาธิการ เตรียมดำเนินการโครงการ "English Speaking Year 2012"
โดยวางแผนให้ ๑ วันใน ๑ สัปดาห์
ทั้งครูและนักเรียนนักศึกษาสื่อสารโดยใช้ภาษาอังกฤษผ่านกิจกรรมต่างๆ
เพื่อเป็นการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘
รวมทั้งให้เกิดความกล้าที่จะพูด
โดยไม่ต้องกังวลการสื่อสารตามไวยากรณ์ที่ถูกต้อง
พร้อมจะเปิดตัวโครงการในวันจันทร์ที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๔
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิด เผยว่า เนื่องจากในปี ๒๕๕๘ ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งภาษาอังกฤษมีความสำคัญในการใช้เพื่อการสื่อสาร ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะส่งเสริมให้สถานศึกษาทุกระดับทุกระบบในสังกัด ได้ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารมากขึ้น โดยในปี ๒๕๕๕ จะประกาศให้ เป็นปีของการส่งเสริมการสื่อสารภาษาอังกฤษ ภายใต้โครงการ English Speaking Year 2012 ที่กำหนดให้ภายใน ๑ สัปดาห์ จะต้องมี ๑ วันที่ครูและนักเรียนนักศึกษาได้ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน และใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร เช่น จัดมุมภาษาอังกฤษ การฝึกนักเรียนเป็นมัคคุเทศก์ เป็นต้น นอกจากนี้ ศธ.จะมีการอบรมพัฒนาเพื่อเตรียมความพร้อมภาษาอังกฤษให้กับครูทั่วประเทศด้วย
วัตถุประสงค์ของการดำเนินการตามโครงการ นี้ เพื่อเตรียมความพร้อมและส่งเสริมการสื่อสารภาษาอังกฤษระหว่างครูและนักเรียน รวมทั้งต้องการฝึกความกล้าในการที่จะพูดหรือสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ โดยในขั้นต้นยังไม่จำเป็นต้องกังวลว่าจะพูดหรือสื่อสารแบบใดให้ถูกหลัก ไวยากรณ์ ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ ดร.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัด ศธ. หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เพื่อวางแผนการทำงานภายใต้โครงการดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม
ปลัด ศธ. กล่าวว่า ในวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๔ ศธ.จะเปิดตัวโครงการดังกล่าว และจะทยอยเริ่ม ดำเนินการในโรงเรียนที่มีความพร้อมก่อนจะขยายไปเรื่อยๆ จนคนส่วนใหญ่ของประเทศไทยสามารถพูด สื่อสาร และใช้ภาษาอังกฤษได้ พร้อมกันนี้จะดำเนินการจัดอบรมครูทั่วประเทศให้มีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ ทั้งการสื่อสาร และการเรียนการสอน โดยจะดำเนินการกิจกรรมตามโครงการ ร่วมกับสถานทูต องค์กรต่างประเทศ หรือตัวแทนจากสถาบันภาษาเข้าร่วม เช่น AUA British Council ฯลฯ โดยโรงเรียนนานาชาติก็จะมีส่วนสำคัญเข้ามาช่วยอบรมพัฒนาครูเพื่อไปสอนในราย วิชาอื่นๆ ด้วย เช่น ศัพท์ช่างของอาชีวศึกษา เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ได้มอบให้ผู้ตรวจราชการ ศธ. ไปสำรวจความพร้อมของโรงเรียนต่างๆ โดยจะแบ่งเป็นพื้นที่ เช่น พื้นที่สีฟ้า-ยังไม่พร้อม สีเขียว-มีความพร้อมปานกลาง สีชมพู-มีความพร้อมมาก เป็นต้น เพื่อเป็นตัวชี้วัดให้เห็นว่าหากพื้นที่ใดมีปัญหาก็จะได้เข้าไปแก้ไขปัญหา ได้ตรงจุด โดยจะพยายามสร้างแรงจูงใจให้กับโรงเรียนด้วย เช่น หากโรงเรียนใดสามารถดำเนินการได้สัมฤทธิผล ก็อาจจะมีรางวัลโดยให้ทุนไปศึกษาดูงานในประเทศอาเซียน เป็นต้น
ขอขอบคุณ สำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ