ผุด7หลักสูตรพื้นฐานแก้เด็กเครียด


 "มศว"รับผิดชอบความคิดสร้างสรรค์-ช่วยค้นอาชีพ

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดเผยว่า นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) ด้ให้แต่ละมหาวิทยาลัยที่มีความโดดเด่นในด้านต่างๆ เข้าไปช่วยเหลือและสนับสนุนการศึกษาขั้นพื้นฐานของ สพฐ. ในการวางกรอบ หลักสูตรและช่วยกำหนดเนื้อหาบางส่วน เพื่อทำให้เกิดประโยชน์ 3 ส่วนคือ 1.ทำให้แต่ละมหาวิทยาลัยได้เด็กนักเรียนในระดับ ม.ปลาย ที่มีความพร้อมมากขึ้น ตรงตามความต้องการ 2.เกิดประโยชน์กับนักเรียน เพราะกรอบหลักสูตรวางเพื่อเด็กที่อาจจะต้องออกไปสู่การทำงาน หรือเรียนต่อในระดับอนุปริญญา 3.เกิดประโยชน์ต่อการเรียนการสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเพราะมีสถาบัน อุดมศึกษาเข้ามาช่วย
UploadImage
 
"รม ว.ศธ.ได้นัดประชุมกับมหาวิทยาลัย ได้ข้อสรุป กรอบหลักสูตร 7 กลุ่ม ดังนี้ 1.กรอบหลักสูตรด้านเกษตร ให้ ม.เกษตรศาสตร์รับผิดชอบ 2.กรอบหลักสูตรด้านอุตสาหกรรม ให้ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีรับผิดชอบ 3.กรอบหลักสูตรบริหารจัดการ ให้ม.ธรรมศาสตร์รับผิดชอบ 4.กรอบหลักสูตรวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้จุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัยรับผิดชอบ 5.กรอบหลักสูตรโภชนาการอาหาร อุตสาหกรรมอาหาร ให้ มรภ.สวนดุสิตรับผิดชอบ 6.กรอบหลักสูตรวิทยาศาสตร์พื้นฐานและความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมให้ ม.เทคโนโลยีสุรนารี รับผิดชอบ 7.กรอบหลักสูตรด้านความคิดสร้างสรรค์ ให้มศว และม.พะเยารับผิดชอบ"
 
UploadImage


น.พ.เฉลิมชัยกล่าวว่า กรอบหลักสูตรความคิดสร้างสรรค์จะครอบคลุมความรู้ด้านนาฏศิลป์ ดนตรี การแสดง การออกแบบ แอนิเมชั่น โลกไซเบอร์ โดยเราจะชวนเพื่อนสถาบันอื่นๆ เข้ามาร่วมวางทิศทางกรอบหลักสูตรด้านความคิดสร้างสรรค์ด้วย เมื่อได้กรอบหลักสูตรแล้ว มศว จะทำเครื่องมือวัดแววนักเรียนชั้น ม.4 และวางเนื้อหาว่าหลักสูตรความคิดสร้างสรรค์ ในระดับ ม.4-ม.6 ต้องเรียนเรื่องใดบ้าง แบ่งระดับหน่วยกิตในแต่ละช่วงชั้นจำนวนเท่าใด โดยนักเรียนม.ปลายทุกคนก็ยังต้องเรียนวิชาต่างๆ ใน 8 กลุ่ม สาระเหมือนเดิม และในกรอบหลักสูตร 7 กลุ่มนี้ นักเรียน สามารถเปลี่ยนได้หากเรียนไปแล้วรู้ว่าไม่ใช่ตัวเอง เด็ก จะไม่เครียด กรอบหลักสูตรนี้จะทำให้เด็กค้นหาตัวเอง เพื่อเข้าสู่วิชาชีพในอนาคตได้ดีมากขึ้น

ภาพประกอบข่าวจากอินเตอร์เน็ท
ขอขอบคุณ ข่าวสด