เส้นทางอาชีพ นักบัญชี



“นักบัญชี” ถือเป็นอาชีพหนึ่ง ที่ต้องอาศัยความรู้ความสามารถเฉพาะทาง และร่ำเรียนมาโดยตรง ทำงานในสายงานบัญชี จนมีประสบการณ์มากพอสมควร ผ่านความรับผิดชอบเป็นสมุห์บัญชี หรือผู้จัดการฝ่ายบัญชีมาก่อน จึงจะได้รับการยอมรับให้เป็น “นักบัญชี”
“ผู้ทำบัญชี” เป็นวิชาชีพ ที่ปัจจุบันมีการตรากฎหมายออกมาเพื่อคุ้มครองอาชีพนี้โดยเฉพาะ คือ พระราชบัญญัติ การบัญชี พ.ศ.๒๕๔๓ “ผู้ทำบัญชี” ที่มีคุณสมบัติตามกฎหมาย แต่อาจไม่ใช่ “นักบัญชี” หากว่าผู้นั้นยังขาดประสบการณ์ในหน้าที่งานบัญชี และเช่นกัน “นักบัญชี” ผู้มีความสามารถและประสบการณ์ ไม่อาจจะเป็น “ผู้ทำบัญชี” ได้หากว่าขาดคุณสมบัติวุฒิการศึกษาตามที่กฎหมายกำหนด
เมื่อกล่าวถึง “ผู้ทำบัญชี” ก็ต้องกล่าวถึง “ผู้สอบบัญชี” ซึ่งเป็นวิชาชีพอิสระอีกอาชีพหนึ่ง ที่ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ดังกฏที่ว่า งบการเงินของกิจการหนึ่ง ๆ ผู้ทำบัญชี และผู้ตรวจสอบบัญชีต้องมิใช่คนเดียวกัน หรือเรียกว่า คนทำไม่ตรวจ คนตรวจก็ไม่ทำบัญชี คล้ายกับอาชีพหมอ ที่ว่า แพทย์เป็นผู้ตรวจแล้วสั่งยา แต่ไม่หยิบยาเอง ส่วนเภสัชกรมีหน้าที่หยิบยา แต่ไม่มีหน้าที่สั่งยาให้คนไข้ หรือยกอีกตัวอย่างหนึ่ง คืออาชีพวิศวกร กับสถาปัตยกรรม ทั้งสองอาชีพทำหน้าที่คู่ขนานกัน
            
สำหรับนักบัญชี อย่างน้อย ๆ จะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ 1 ใบ เพื่อขึ้นทะเบียนเป็น :
ผู้ทำบัญชี
ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA)
ผู้สอบภาษีอากร (Tax Auditor)
อาชีพและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนักบัญชี
1.รับทำบัญชี
2.รับตรวจสอบบัญชี
3.รับวางระบบบัญชี
4.รับเขียนโปรแกรมบัญชี
5.ที่ปรึกษาภาษีอากร
6.เป็นวิทยากร / ผู้สอน วิชาบัญชี – ภาษีอากร
7.สถาบันอบรมบัญชี-ภาษีอากร
8.ผลิต/จำหน่ายโปรแกรมบัญชีสำเร็จรูป
ลำดับที่ 1 – 6 จะทำเป็นอาชีพอิสระด้วยตัวเองคนเดียวก็ได้
ณ ที่นี้จะขอกล่าวถึงอาชีพการรับทำบัญชี เพราะเป็นงานอิสระที่นักบัญชีส่วนใหญ่เริ่มต้นด้วยการรับทำบัญชี
รูปแบบของธุรกิจรับทำบัญชีนี้ เป็นอย่างไร ?
ท่านสามารถเลือกแบบธุรกิจ ซึ่งแบ่งตามขนาดที่ท่านต้องการ
1.One Man Show
นักบัญชีกลุ่มนี้มีจำนวนมาก บางรายรับทำบัญชี บางรายสอนงาน วางระบบ ที่ปรึกษา ตอนเริ่มต้นอาจทำด้วยตัวคนเดียว แล้วค่อย ๆ หาผู้ช่วยเพิ่มขึ้นตามปริมาณงาน แต่บางรายต้องการอิสระในการทำงาน ไม่ต้องอาศัยผู้ช่วยหรือทีมงาน ข้อดีคือควบคุมคุณภาพได้ที่เราอยากให้เป็น ข้อเสียคือถ้ารับงานมากเกินไปจะทำให้เครียดได้
หากเป็นประเภทรับทำบัญชี ส่วนใหญ่เกิดจากในอดีตระหว่างทำงานประจำ รับจ๊อบทำบัญชีให้กับกิจการอื่นเป็นอาชีพเสริม พอมีมากขึ้น ๆ ก็ลาออกเปลี่ยนเอาจ๊อบบัญชีเป็นอาชีพหลัก ที่พบเห็นอีกกลุ่มที่ไม่น้อยเลยเป็นแม่บ้านมีภาระงานในบ้านพอสมควร ไม่อยากออกไปทำงานนอกบ้านจึงรับงานบัญชีมาทำที่บ้าน
2.Teamwork
อาจเริ่มต้นจากตัวคนเดียว แล้วหาผู้ช่วย(พนักงานบัญชี) เพิ่ม รวม ๆ ไม่เกิน 10 คน หรือเริ่มต้นจากการชวนเพื่อน 1-2 คน มาทำร่วมเป็นหุ้นส่วนกัน
บางทีได้งานรับวางระบบบัญชี ก็ต้องมีทีมงานที่สามารถเรียกมาช่วยกันได้โดยทันที
3.Firm
เมื่อกิจการมีทีมงานมากกว่า 5 คน เจ้าของกิจการจะขยายให้โตขึ้น มีพนักงาน 10 หรือ 20 คน แล้วแต่โอกาสและความต้องการ กิจการขนาดนี้ มี 3 แบบ คือ สำนักงานรับทำบัญชีอย่างเดียว สำนักงานรับตรวจสอบบัญชีอย่างเดียว และสำนักงานที่มีทั้งแผนกทำบัญชีและแผนกตรวจสอบบัญชีอยู่ในองค์กรเดียวกัน และอาจจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล บริษัทจำกัด
ด้านรายได้
ขึ้นอยุ่กับความสามารถในการหางาน และทำงาน ปัจจุบันองค์กรธุรกิจที่เป็นนิติบุคคล ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด ประมาณ 475,000 ราย หากเราจะขอแบ่งมาทำสัก 10-20 ราย ไม่น่าจะยากเกินกำลัง โดยเฉพาะผู้ที่มีวงเพื่อนฝูงและญาติกว้างขวาง
รายได้มากน้อย จะขึ้นอยู่กับขนาดของกิจการที่เราดูแล หากเป็นรายใหญ่จะมีค่าบริการค่อนข้างสูง ดังนั้นจึงควรมีลูกค้าขนาดใหญ่ไว้บ้าง
อาชีพนี้จะมีรายได้สม่ำเสมอ หากรู้จักเก็บจะเป็นอาชีพที่มั่นคง แต่ถ้าอยากจะรวยกับอาชีพนี้ ไม่ทราบจะบอกอย่างไรเพราะคำว่า “รวย” ของแต่ละคนพอใจจะรวยไม่เท่ากัน
ต้องเตรียมตัวอย่างไร ?
มีข้อควรคิดถึงคุณสมบัติส่วนตัว และการเตรียมความพร้อม ดังนี้
ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ที่ผ่านมาคิดว่ามั่นใจเต็มที่แล้วหรือยัง เชื่อมั่นในตัวเองมากแค่ไหน โดยปรึกษาขอความเห็นจากเพื่อนนักบัญชีด้วยกัน หรืออดีตหัวหน้าฝ่ายบัญชีที่เราเคารพศรัทธา
เตรียมเผชิญกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยน แปลง จากเดิมที่เคยออกจากบ้านไปที่ทำงานทุกวัน แต่กลับต้องอยู่กับบ้าน เคยมีผู้ร่วมงานคอยเป็นเพื่อนคุย ต่อไปนี้เราจะค่อนข้างเหงา ต้องใช้เวลาในการปรับสภาพความเป็นอยู่ระยะหนึ่ง
ไม่หยุดการเรียนรู้ ต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเคิมตลอดเวลา และไม่ลืมที่จะต้องเข้าอบรมวิชาบัญชี-ภาษี ให้ครบ 27 ชั่วโมงทุก ๆ 3 ปี ตามที่สภาวิชาชีพการบัญชีกำหนด
มีที่ปรึกษาส่วนตัว หรือแหล่งที่จะขอคำปรึกษาได้ เพราะไม่มีใครที่พร้อม 100% วิชาการค้นหาได้จากหนังสือ แต่ภาคปฎิบัติต้องอาศัยปรึกษาจากผู้ที่มีประสบการณ์
เวลางาน กับเวลาส่วนตัว ต้องจัดแบ่งให้ลงตัวอย่างเหมาะสม หากแบ่งเวลาให้กับงานน้อยไป หรือผลัดวันประกันพรุ่งจะทำให้งานค้างจำนวนมาก เป็นผลเสียในด้านการให้บริการ
จัดหาอุปกรณ์เครื่องใช้ให้พอเพียง อย่างน้อยต้องมีอุปกรณ์สำนักงานครบ และที่ขาดไม่ได้คือ โปรแกรมบัญชีสำเร็จรูป ที่มีประสิทธิภาพ
ปัจจัยที่จะทำให้เกิดความล้มเหลวในอาชีพนี้
1.รับงานที่มีความเสี่ยงสูง
บาง คนรับงานทำบัญชีทุกราย โดยไม่เลือกว่ากิจการใดประกอบธุรกิจอย่างซื่อสัตย์หรือไม่ ช่วยเหลือลูกค้าเลี่ยงภาษีอากร บันทึกตัวเลขบัญชีโดยไม่มีเอกสารหลักฐานที่ถูกต้อง ให้การช่วยเหลือลูกค้าจนเกินเหตุ ขาดจรรยาบรรณ ท่านอาจเป็นคนกลุ่มแรกที่จะถูกเพิกถอนใบอนุญาต หรือถูกดำเนินคดีได้
2. ยักยอกเงินภาษี
บาง รายให้บริการยื่นชำระภาษีแทนลูกค้า โดยรับเงินสดจากลูกค้าเพื่อไปยื่นแบบชำระภาษีให้สรรพากร แรก ๆ ก็ทำเป็นปกติ ต่อมาการเงินส่วนตัวมีปัญหา นำเงินภาษีที่รับมาจากลูกค้าไปหมุน แล้วนำส่งภาษีไม่ทันอีก เกิดการค้างมากขึ้น ๆ บางรายทำอย่างนี้กับลูกค้าทุกรายที่มี ได้เงินไปหลายแสน บางรายได้ไปนับล้าน จนต้องหนีหายตัวไป ผลเสียตกกับลูกค้าที่ค้างส่งภาษี ทำให้เสียสถาบันวิชาชีพอย่างร้ายแรง
3.บริการแย่ลง
บาง รายมีลูกค้าติดต่อมาว่าจ้างมากขึ้น ๆ ปริมาณงานที่รับมากเกินกว่าที่จะทำได้ทัน ไม่รีบเร่งแก้ปัญหา รับปากกับลูกค่าว่าจะเสร็จแล้ว ผลัดวันประกันพรุ่ง มีข้อผิดพลาดบ่อย ลืมนัด เลื่อนนัดเป็นประจำ ทำให้ลูกค้าต้องตีจากให้คนอื่นมาทำแทน
4. ขาดการเอาใจใส่
ขาด การดูแลเอาใจใส่ลูกค้า ปีหนึ่งลูกค้าได้เห็นหน้าเพียงครั้งเดียว หรือไม่ได้ไปพบลูกค้าเลยเป็นปี ๆ และบางรายปล่อยให้ลูกจ้างทำงาน โดยไม่ได้ติดตามผลงาน ถ้าลูกจ้างบริการไม่ดีผลเสียจะตกกับเรา บางรายมีลูกจ้างให้บริการดีเราก็ดีด้วย แต่บางทีลูกจ้างที่ดีลาออกไป ไม่ออกเปล่าแถมดึงลูกค้าเราติดไปด้วยอย่างนี้ก็มีเยอะ
5. ขาดการพัฒนาตนเอง
ไม่ มีการติดตามข่าวสารภาษีอากร กฎหมาย กฎกระทรวง ที่ออกมาใหม่ เพื่อนำมาประกอบการใช้งาน จนทำให้การทำงานมีข้อผิดพลาด การศึกษาทางธุรกิจด้านอื่น ๆ ก็ต้องมีความรู้พอเท่าทันลูกค้าบ้างเหมือนกัน

ความภูมิใจในอาชีพนักบัญชี
1.เป็นอาชีพที่มีเกียรติ
ทั้ง นี้ผู้ประกอบวิชาชีพต้องปฎิบัติตน ทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ มีระเบียบวินัย และธำรงไว้ซึ่งจรรยาบรรณในวิชาชีพ ท่านจะได้รับเกียรติและการยอมรับจากลูกค้าและบุคคลทั่วไป
2. สร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ
ถือ ว่ามีส่วนร่วมในสังคม เป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างความยุติธรรม ความโปร่งใส ธรรมาภิบาล อันทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
3. ความมีเอกภาพ
นัก บัญชีที่ดีต้องมีเอกภาพ มีอิสระที่จะปฎิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องตรงไปตรงมา ฝ่ายผู้ประกอบการต้องการเสียภาษีน้อย แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่สรรพากรต้องการเก็บภาษีให้ได้มาก ๆ เรานักบัญชีเป็นผู้อยู่ตรงกลาง ทำอย่างไรจึงจะให้ได้รับความพอใจทั้งสองฝ่าย และอยู่บนเงื่อนไขความถูกต้องด้วย 


 บทความโดย : ณรงค์วิทย์ แสนทอง