ดึงมหา’ลัยช่วยจัดหลักสูตร’มัธยม’

ดึง มหา'ลัยช่วยจัดหลักสูตร'มัธยม' แบ่งตามกลุ่ม'อัจฉริยภาพ-วิชาชีพ'ดึงมหา'ลัยช่วยจัดหลักสูตร'มัธยม'แบ่งตาม กลุ่มอัจฉริยภาพ-วิชาชีพ"ตั้งงบแจกแท็บเล็ต'ป.1'กว่า3พันล.
          เมื่อวันที่ 8 กันยายน นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของสำนักงานคณะ กรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คุณภาพไม่ตรงกับที่มหาวิทยาลัยอยากได้ มหาวิทยาลัยจึงอยากลงไปพัฒนานักเรียนตั้งแต่ในระดับมัธยมศึกษา ขณะที่สพฐ.อยากได้อาจารย์มหาวิทยาลัยเข้ามาช่วยในการจัดการศึกษา แต่ติดกรอบเดิม ดังนั้นจะเปิดให้มหาวิทยาลัย สพฐ. และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้พูดคุยกัน โดยจัดสัมมนาทางวิชาการเพื่อระดมสมองร่วมกันครั้งใหญ่ในเร็วๆ นี้ เพื่อหาข้อสรุปในการจัดการศึกษาร่วมกัน ซึ่งจะทำให้กรอบเส้นแบ่งของแท่งต่างๆ เบาบางลง
          "ต่อไปมหาวิทยาลัยจะลงไปจัดทำหลักสูตร และช่วยสอนในโรงเรียนมัธยม จะทำให้เด็กได้เรียนหลักสูตรเดียวกับมหาวิทยาลัยตั้งแต่มัธยมศึกษา โดยจะปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แบ่งตามกลุ่มอัจฉริยภาพของเด็ก โดยจัดระบบใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม 5 กลุ่ม ได้แก่เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม วิชาการ และความคิดสร้างสรรค์ ต่อไปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นหลักสูตรเดียวของศธ.แล้วใช้เหมือน กันทั่วประเทศ จะไม่มีแล้วแต่จะแยกหลักสูตรตามวิชาชีพจะแยกตั้งแต่ระดับมัธยม" นายวรวัจน์กล่าว
          นายวรวัจน์กล่าวว่า ส่วนการจัดทำกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 นั้นขณะนี้ ศธ.กำลังหารือร่วมกับองค์กรหลัก และผู้แทนสำนักงบประมาณ เพื่อปรับลดกรอบงบฯ ตามที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบหมาย จากที่เสนอไปกว่า 5 แสนล้านบาท ให้เหลือเพียง 4.1 แสนล้านบาท เท่ากับกรอบวงเงินงบฯ ปี 2555 เดิมที่เคยเสนอไป ทั้งนี้ ยังไม่รวมเรื่องของกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ใน อนาคต(กรอ.) และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) ที่จะโยกงบฯมาตั้งไว้ที่ ศธ. รวมทั้งกองทุนแก้ไขหนี้สินครู ซึ่งเป็นงบฯที่โป่งเกินไปจึงให้นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ไปพิจารณาในภาพรวมร่วมกับผู้บริหารองค์กรหลัก ว่าโครงการไหนที่สามารถทำร่วมกันได้ หากงบฯส่วนใดจำเป็น จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อของบฯเพิ่มเติม โดยจะเร่งจัดทำกรอบงบฯให้เสร็จสิ้นภายในสัปดาห์นี้
          "สำหรับการจัดซื้อแท็บเล็ตให้นักเรียนนั้นยังยึดงบฯที่ สพฐ.กำหนดไว้กว่า 3 พันล้านบาท เพื่อจัดซื้อให้กับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทุกคน ส่วนในระดับชั้นอื่นยังสามารถขยายต่อๆ ไปได้" นายวรวัจน์กล่าว

          ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน