สวทน.ชี้แนวโน้มวิกฤตขาดแรงงานด้านวิทยาศาสตร์ เหตุบัณฑิตมุ่งสู่อาชีพบันเทิง


วันที่ 28 มีนาคม นายพิเชฐ  ดุรงคเวโรจน์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม( สวทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) เปิดเผยว่า การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของสถาบันการจัดการนานาชาติ  ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 27 จาก 60 ประเทศ ในปี 2556 สูงขึ้นจาก อันดับ 30 ในปี 2555 อยู่ในอันดับต่ำกว่า มาเลเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน หรือ การวัดระดับดัชนีความสามารถในการแข่งขันโดยรวม  
 
โดยเวทีเศรษฐกิจโลก   พบว่า ประเทศไทยอยู่อันดับ 37 ในปี 2556 - 2557 โดยหนึ่งในหลักเกณฑ์การพิจารณาของทั้ง 2 สถาบัน จะใช้เกณฑ์วัดเรื่องการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำไม่ว่าจะเปรียบเทียบกับประเทศทั่วโลกหรือในภูมิภาคเดียวกัน 
 
นายพิเชฐ กล่าวว่า หากพิจารณาตัวเลขด้านทรัพยากรบุคคลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะพบว่าสัดส่วนของนักศึกษาใหม่ที่เลือกเข้าเรียนในสาขาวิทยาศาสตร์มีเพียง ร้อยละ 39 ซึ่งน้อยกว่าสาขาสังคมศาสตร์ที่มีสัดส่วนร้อยละ 61 
 
โดยเฉพาะในระดับสูงกว่าปริญญาตรี มีผู้เลือกเรียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพียงร้อยละ 20 แต่มีผู้เลือกเรียนต่อด้านสังคมศาสตร์ถึงร้อยละ 80  และเมื่อพิจารณาถึงตัวเลขของกำลังแรงงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย พบว่า มีผู้สำเร็จการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ไม่ได้ทำงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถึงร้อยละ 38 โดยในกลุ่มนี้ ร้อยละ 25 หันไปประกอบอาชีพนางแบบนายแบบในสายบันเทิง หรือ พนักงานขายสินค้า ซึ่งแน้วโน้มตัวเลขดังกล่าวสะท้อนผลกระทบโดยตรงต่อการขาดแคลนแรงงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอนาคตอย่างแน่นอน 
 
ดังนั้น การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเพิ่มขีดความสามารถให้แข่งขันของประเทศ  จึงได้ถูกกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ประเทศ  โดยให้ สวทน. และ  สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง   เป็นผู้ขับเคลื่อนแผนงานการผลิตบุคลากรนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยร่วมกับสถาบันการศึกษา ในการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนสาขาเทคโนโลยีเพื่ออนาคต หลายหลักสูตร  ในด้านการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา มีการกำหนดเป้าหมายการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาให้เป็นร้อยละ 1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 
 
โดยกระตุ้นให้ภาคเอกชนลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้น จากตัวเลขสถิติในปี2554 พบว่า การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของเอกชน   มีสัดส่วนร้อยละ 51 และภาครัฐนั้นมีสัดส่วนที่ร้อยละ 49  โดยอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร ปิโตรเลียม เครื่องจักร ยางและพลาสติก สวทน. จึงต้องเร่งประสานความร่วมมือจากภาคเอกชนให้ตระหนักถึงความสำคัญของการวิจัยและพัฒนา โดยมีเป้าหมายให้ภาคเอกชนเพิ่มการลงทุนเพิ่มให้ได้ร้อยละ 70 ภายในปี 2559