ชงหลักสูตรใหม่ 6 กลุ่มสาระ อิง 12 ชาติหัวก้าวหน้า / สอนน้อย-เน้นเรียนรู้วิเคราะห์มากขึ้น


ก.ก.ปฏิรูปหลักสูตรฯ ระบุอีก 6 เดือนส่งพิมพ์เขียวให้ สพฐ.ทำประชาพิจารณ์
     นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฐานะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปฯ
ที่มีนายภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า มีแนวโน้มที่จะยกเลิกหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ที่มี 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ มาเป็นหลักสูตรใหม่โดยเหลือ 6 กลุ่มสาระ ได้แก่ 1.ภาษาและวัฒนธรรม (Language and Culture) 2.กลุ่มสาระวิชาSTEM คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ 3.การดำรงชีวิตและโลกของงาน (Work Life) 4.ทักษะสื่อและการสื่อสาร (Media Skill and Communication) 5.สังคมและและมนุษยศาสตร์ (Society and Humanity) และ 6.อาเซียนภูมิภาคและโลก (Asean Region and World)
     นายสมพงษ์ กล่าวต่อไปว่า หลักสูตรใหม่ดังกล่าวเป็นหลักสูตรที่มีความครอบคลุมสาระวิชาที่จำเป็นสำหรับนักเรียนในแต่ละระดับชั้น ซึ่งคณะกรรมการได้ศึกษาตัวอย่างโครงสร้างหลักสูตรของต่างประเทศไม่น้อยกว่า 12 ประเทศ อาทิ ฮ่องกง สิงคโปร์ ฟินแลนด์ สหรัฐอเมริกา เกาหลี ญี่ปุ่น เป็นต้น มาประกอบกับเนื้อหาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่าหลักสูตรของเรายังมีจุดอ่อนอยู่มาก เช่น เราให้เด็กเรียนถึง 8 กลุ่มสาระ ขณะที่ประเทศอื่น ๆ เรียนเพียง3-4 กลุ่มสาระแล้วค่อยๆ เติมเนื้อหาสาระที่จำเป็นเข้าไป และในแต่ละปีเด็กไทยจะมีชั่วโมงเรียนมากกว่า 1,000 ชั่วโมง ขณะที่ประเทศอื่นเรียนไม่เกิน 800 ชั่วโมง เป็นต้น ดังนั้นหลักสูตรใหม่ที่จะมีการปรับปรุงนอกจากลดจำนวนกลุ่มสาระการเรียนรู้แล้วจะมีการลดชั่วโมงเรียนลงด้วย แต่จะเพิ่มโครงงาน หรือการทำกิจกรรมนอกห้องเรียนแทน เพื่อให้เด็กได้ฝึกการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้ 
     "หลังจากที่คณะกรรมการได้ประชุมมา 3 ครั้ง โดยมีตัวแทนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งนักวิขาการ ครู และนักเรียน ร่วมประชุมทำให้ได้ข้อสรุปดังกล่าว ซึ่งหลังจากนี้คณะทำงานของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ใหม่ทั้ง 6 กลุ่ม จะต้องไปวางแนวทางและรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละระดับอีกครั้ง โดยคาดว่าในอีก 6 เดือนพิมพ์เขียวจะแล้วเสร็จ จากนั้นจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นำไปประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นอย่างรอบด้านต่อไป"
     นายสมพงษ์ กล่าวและว่า การปฏิรูปหลักสูตรครั้งนี้เป็นผลมาจากแนวคิดของ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ ที่ระบุว่าการปฏิรูปจะเดินหน้าได้ต้องเริ่มที่การปฏิรูปหลักสูตรก่อน เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านอื่น ๆ ต่อไปได้ โดยการปฏิรูปหลักสูตรใหม่นี้ มีความคาดหวังว่าจะเด็กไทยในอนาคตจะมีคุณลักษณะที่สำคัญ คือ มีความเป็นไทยสามาระแสดงออกแบบสากลได้ รักการทำงาน เรียนแล้วมีงานทำมองเห็นอนาคตของตัวเอง เคารพรากคุณค่าและรากเหง้าของสังคมไทย ที่สำคัญเป็นการปลดทุกข์ของเด็กโดยเฉพาะเรื่องความเครียดและการแข่งขันเพราะจะมีเวลาให้เด็กได้ทำกิจกรรมมากขึ้น