3 พระจอม ชี้ตลาดแรงงานสายวิทย์ฯ เทคโนฯ ปี 56 ยังขาดแคลน



 3 พระจอมฯ เร่งพัฒนาหลักสูตรให้มีคุณภาพมาตรฐานในระดับสากล มีเนื้อหาและวิธีการสอดคล้องกับยุคสมัย ตลอดจนการพัฒนานักศึกษา หรือบัณฑิตให้มีขีดความสามารถทางด้านวิชาการและวิชาชีพ สามารถแข่งขันได้ในตลาดแรงงานอาเซียน ปี 2558 ย้ำตลาดแรงงานทั้งในประเทศและประเทศต้องการบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 
 
       ศาสตราจารย์ ดร. ถวิล พึ่งมา อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่เน้นการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาโดยตลอด
      
       "การศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเปรียบเสมือนรากฐานของการพัฒนาประเทศ ซึ่งหากประเทศมีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในแขนงต่างๆอย่างดี ก็จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงและพัฒนาประเทศชาติได้ ซึ่งที่ผ่านมาทั้ง 3 สถาบันได้สร้างความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันการศึกษาชั้นนำในต่างประเทศหลายแห่ง รวมถึงองค์กรชั้นแนวหน้าในประเทศทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนกลไกการพัฒนานักศึกษา อาจารย์ ตลอดจนบุคลากรของสถาบันสู่การเป็นกลุ่มสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำของโลก"
      
       ศาสตราจารย์ ดร. ถวิล กล่าวต่อว่า ในปีการศึกษา 2554 ที่ผ่านมา ทั้ง 3 สถาบันได้มีการผลิตบัณฑิตออกมารับใช้สังคมกว่า 15,000 คน ซึ่งเป็นบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแทบทั้งสิ้น อาทิ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ เป็นต้น ล้วนแล้วแต่เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ และมีความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน
       "หลักสูตรการเรียนการสอนของทั้ง 3 สถาบันเน้นการผลิตบุคลากรที่ทำงานเป็น เพราะบุคลากรที่เก่งด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว ไม่อาจตอบโจทย์ของตลาดแรงงานได้ ซึ่งทางกลุ่มมหาวิทยาลัย/ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ได้ยึดถือความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศในการผลิตบัณฑิตป้อนให้แก่สังคมเป็นสำคัญ เพราะนั่นจะเป็นสิ่งที่ทำให้บัณฑิตทุกคนสามารถนำวิชาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา นำมาปรับใช้ในการทำงานและเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวได้ อีกทั้งการที่บัณฑิตทุกคนมีความรู้ ความสามารถในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น จะสามารถทำให้บัณฑิตทุกคนที่สำเร็จการศึกษาจากรั้วพระจอมเกล้า กลายเป็นมันสมองที่สำคัญของประเทศ

 
       
 
       โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 นี้ ระบบการศึกษาของประเทศไทยจำเป็นต้องมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และน่าจะถึงเวลาของการผลักดันให้ผู้เรียนหันมาสนใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น เพราะในปัจจุบันมีผู้ที่เรียนทางด้านสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพียง 20% ในขณะที่สายสังคมศาสตร์สูงกว่า 70% อีกทั้งตลาดแรงงานทั้งในประเทศและอาเซียนยังต้องการบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์วิศวกรรมศาสตร์ และคอมพิวเตอร์อีกเป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่น่าจับตามองว่าบัณฑิตของไทยสามารถหางานทำในกลุ่มประเทศอาเซียนได้แต่ผู้ที่มีศักยภาพและความพร้อมที่สูงกว่าย่อมมีโอกาสที่ดีกว่าในการได้งานทำและมีความก้าวหน้าในอาชีพ ทางกลุ่มมหาวิทยาลัย/ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า จึงพยายามพัฒนาหลักสูตรและจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพมาตรฐานในระดับสากล มีเนื้อหาและวิธีการสอดคล้องกับยุคสมัย ตลอดจนการพัฒนานักศึกษา หรือบัณฑิตให้มีขีดความสามารถทางด้านวิชาการและวิชาชีพที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดแรงงานอาเซียน" ศาสตราจารย์ ดร. ถวิล กล่าวสรุป
      
       โดยวันที่ 28 - 29 มกราคม นี้ กลุ่มมหาวิทยาลัย/ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า กำหนดการพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตประจำปีการศึกษา 2554 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC)บางนา โดย วันที่ 28 มกราคม 2556 รอบเช้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วันที่ 28 มกราคม 2556 รอบบ่าย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และ วันที่ 29 มกราคม 2556 รอบเช้า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง