|
|
คณบดี
ดุริยางค์ฯ ชี้บัณฑิตจบดนตรีว่างงานเพียบ เป็นทั้งไทยและเทศ
เหตุมีตลาดรองรับจำกัดแนะบัณฑิตรุ่นใหม่ที่อยากมีงานทำอย่าปิดกั้นตนเอง
และต้องมีความสามารถหลากหลาย ขณะที่ ผู้เชี่ยวชาญดนตรี
ฝากรัฐหนุนตั้งวงดุริยางคศิลป์ตามท้องถิ่นทุกภาค
นายดำริห์ บรรณวิทยกิจ คณบดีคณะดุริยางคศาสตร์
มหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก.) เปิดเผยว่า ในช่วงเวลาประมาณ 10
ปีที่ผ่านมานั้น พบว่า เด็กเยาวชนไทยสนใจเรียนด้านดนตรีศึกษามากขึ้น
โดยเห็นได้จากสัดส่วนการแข่งขันในการสอบการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อคณะที่
จัดการเรียนการสอนด้านดนตรีจากเดิมที่มีสัดส่วน 3 ต่อ 1 เพิ่มเป็น 5-7ต่อ1
และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยสาเหตุที่ทำให้เด็กเยาวชนหันมาสนใจด้านดนตรี
ส่วนหนึ่งเพราะเด็กเยาวชนในปัจจุบันมีความกล้าแสดงออก
และรู้จักหาเวทีในการแสดงความสามารถ
และปัจจุบันก็มีเด็กที่จบสาขาด้านดนตรีเพิ่มจำนวนมากขึ้น
และการเพิ่มจำนวนนี่เองที่ส่งผลให้เกิดปัญหาการว่างงานตามมา
เนื่องจากตลาดรองรับบัณฑิตเหล่านี้มีจำกัด
แต่ไม่ใช่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่ประสบปัญหานี้
แม้แต่นักดนตรีต่างประเทศก็หางานทำได้ยากเช่นเดียวกัน ดังนั้น หากนักดนตรี
หรือบัณฑิตที่จบสาขาดนตรีต้องการมีงานทำ ควรต้องมีทักษะ
ความสามารถที่หลากหลาย ทั้งเล่นดนตรี แต่งเพลง มีความรู้ด้านบริหาร
สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ ไม่ใช่เล่นดนตรีเป็นเพียงอย่างเดียว
และอย่าปิดกั้นโอกาสตนเอง
ด้าน นายกิตติคุณ สดประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญด้าน
ดนตรี สาขาเชิงพาณิชย์ คณะดุริยางคศาสตร์ มศก.กล่าวว่า
ปัจจัยที่ทำให้เด็กเยาวชนไทยหันมาเรียนดนตรีมากขึ้น
เกิดจากทางการแพทย์ที่ระบุว่าดนตรีสามารถบำบัด
พัฒนาอีคิวและไอคิวให้กับเด็กได้ตั้งอยู่ในครรภ์
จนเกิดเป็นกระแสนิยมทำให้พ่อแม่ส่งเสริมให้ลูกเรียนดนตรี
อีกทั้งหาวิทยาลัยในตอนนี้มีการเปิดการเรียนการสอนด้านดนตรีจำนวนมาก
ทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฎ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ที่ผลิตบัณฑิตเพื่อ
เป็นครูสอนดนตรี ขณะที่มหาวิทยาลัยรัฐ เช่น จุฬาฯ ม.เกษตรศาสตร์
ม.มหิดล จะผลิตผู้ชำนาญดนตรีเฉพาะด้าน ทำให้ผลผลิตออกมา
จนบัณฑิตต้องกอดคอกันหางานตามตลาดแรงงาน
และประเทศไทยมีพื้นที่รองรับเยาวชนเหล่านี้น้อยเกินไป ขณะนี้
รัฐบาลมีการสนับสนุนวงดุริยางค์เพียงไม่กี่วง เช่น วงดุริยางค์ศิลปากร
วงดุริยางค์ของ 3 เหล่าทัพ วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย
ของม.มหิดล วงดุริยางค์ซิมโฟนีออเคสตร้า
ทั้งที่เด็กที่เรียนด้านดนตรีคลาสสิก หรือวงดุริยางค์มีมากขึ้น
จึงอยากเห็นทั้งภาครัฐและภาคเอกชนช่วยสนับสนุนให้เกิดวงดุริยางคศิลป์เกิด
ตามท้องถิ่นทุกภาค เพื่อเป็นตลาดรองรับเยาวชนที่จบออกมา
เพราะเด็กที่จบออกมาก็ต้องการมีวงเล่น มีวงเป็นของตนเอง
หรือเป็นครูสอนดนตรี
ขณะที่นักดนตรีรุ่นใหม่ซึ่งมีความสามารถมากก็ต้องเสียสละ
ต้องทำให้คนรู้จักเราก่อน ด้วยการลดความเป็นตัวตน
และเดินเข้าหาประชาชนมากขึ้น |