“สัมพันธ์” แจง สทศ. มีหน้าที่ให้บริการ “กำจร” ระบุเด็กสอบมากจริง
จากกรณีที่ ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ แสดงความเป็นห่วงเด็กไทยที่ต้องสอบข้อสอบระดับชาติหลายอย่าง ทั้งการสอบแบบทดสอบวัดความถนัดทั่วไป หรือ GAT แบบทดสอบวัดความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ PAT และยังมีแบบทดสอบทางการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ หรือโอเน็ต โดยเสนอสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ให้ลดจำนวนการสอบเหลือเพียงโอเน็ตอย่างเดียวนั้น
รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สทศ. เปิดเผยว่า การสอบ GAT-PAT เป็นการทดสอบเพื่อนำไปใช้คัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นงานบริการการทดสอบที่ สทศ. ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) โดย GAT เป็นการวัดผลการวิเคราะห์และการสื่อสารภาษาอังกฤษ มีเป้าหมายคัดเลือกผู้เรียนให้เรียนระดับสถาบันอุดมศึกษาได้สำเร็จ ส่วน PAT มีเป้าหมายวัดเพื่อให้ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกสามารถเรียนวิชาชีพในวิชานั้นได้สำเร็จ ส่วนการสอบวิชาสามัญ 7 วิชา สอบเพื่อใช้ในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบรับตรงส่วนกลาง หรือระบบเคลียริ่งเฮาส์ ก็เป็นงานบริการการทดสอบให้ ทปอ.เช่นกัน
ดังนั้น การสอบทั้ง 2 ส่วนนี้เป็นอำนาจ ทปอ.ที่จะให้ตัดสินใจว่าจะปรับเพิ่มหรือลดอย่างไร ยกเว้นการสอบโอเน็ตและแบบทดสอบระดับชาติอื่นๆ ทั้งด้านการศึกษานอกระบบ การอาชีวศึกษา อิสลามศึกษา เป็นต้น ซึ่งเป็นพันธกิจหลักของ สทศ. ตาม พ.ร.บ. สถาบันทดสอบแห่งชาติที่ต้องทำการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ เพื่อเทียบเคียงคุณภาพและมาตรฐานของผู้เรียน
ด้าน รศ.นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า การลดจำนวนข้อสอบระดับชาติให้น้อยลงเป็นข้อเสนอในวงการศึกษาตลอด ซึ่งตนก็เห็นด้วยเพราะปัจจุบันมีจัดสอบมากจริง สำหรับตนมองว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในบางสาขาวิชาจำเป็นต้องใช้ข้อสอบเฉพาะที่ดีมีมาตรฐาน เพราะต้องการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่ออย่างเข้มข้น โดยเฉพาะวิชาชีพแพทย์ ขณะที่วิชาชีพอื่นๆ ที่มีความสำคัญรองลงมาคิดว่าคงไม่จำเป็นต้องใช้ข้อสอบเฉพาะ.