ม.6 ไม่ต้องกลัว GPAX ลด เพราะใช้แค่ 20 % และแปลงช่วงคะแนนก่อนนำมาใช้

     กลุ่ม ร.ร.เป้าหมายเฉพาะ/ร.ร.ทางเลือก ส่วนใหญ่ไม่ต้องการสอบ O-Net “ชินภัทร” รับพร้อมหาช่องยกเลิกให้สำหรับกลุ่มดังกล่าว หรือออกเป็นประกาศเพิ่มเติม ระบุเด็กที่เรียนในกลุ่มดังกล่าวส่วนใหญ่จบการ
ศึกษาพื้นฐานแล้วออกไปทำงาน มากกว่าจะเรียนต่อ เล็งตั้งคณะกรรมการฯ ร่วมศึกษาวิจัยข้อมูลเพื่อนำไปหารือส่วนที่เกี่ยวข้อง หลังมีการคุยในวงเสวนาว่าจำเป็นต้องสอบ O-Net ทั้ง 8 กลุ่มสาระหรือไม่ 
       
       ที่ โรงแรมรอยัลริเวอร์ บางพลัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดประชุมเสวนาการใช้ O-Net เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินผลการเรียนของผู้เรียนที่จบการศึกษาขั้นพื้น ฐาน ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษา พุทธศักราช 2551 สำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ ศูนย์ปฏิบัติการ GPA สำนักทดสอบทางการศึกษา สพฐ., โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ปทุมธานี, โรงเรียนเตรียมทหาร, โรงเรียนกีฬากรุงเทพมหานคร โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เป็นต้น
       
       โดย นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ.ได้เชิญกลุ่มโรงเรียนเป้าหมายเฉพาะ เช่น โรงเรียนวัตถุประสงค์พิเศษ โรงที่ตั้งขึ้นตามความต้องการพิเศษ เช่น โรงเรียนสำหรับเด็กด้อยโอกาส และโรงเรียนทางเลือก เช่น โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ทั้งนี้ หลังจากที่หลายฝ่ายสะท้อนความคิดเห็นแล้วนั้น ได้ข้อสรุปว่า การส อบ O-Net จำเป็นจะต้องมีอยู่เพื่อสะท้อนคุณภาพการศึกษาของชาติ แต่ไม่จำเป็นที่เด็กจะต้องสอบทุกคน เพราะการจัดการศึกษาทางเลือกนั้น จัดตามศักยภาพของเด็กแต่ละคน เช่น โรงเรียนสำหรับเด็กด้อยโอกาส ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นให้เด็กมาสอบ O-Net เพราะเด็กกลุ่มนี้มีเปอร์เซ็นต์การเรียนต่อน้อย ส่วนใหญ่เมื่อจบการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้วจะไปประกอบอาชีพทันที อีกทั้งการจัดการเรียนการสอน ก็มีความแตกต่างจากโรงเรียนในระบบ สพฐ.จึงจะกำหนดให้สำหรับโรงเรียนทางเลือกไม่บังคับให้เด็กต้องสอบ O-Net ทุกคน จึงจะไม่มีการนำคะแนน O-Net มาถ่วงน้ำหนักกับคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร หรือ GPAX เหมือนกันโรงเรียนทั่วไป
       
       อย่าง ไรก็ตาม สพฐ.จะไปทบทวนดูว่าประกาศกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เรื่อง การใช้ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินผลการเรียนการของผู้ที่จบการศึกษาตามหลัก สูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2555 นั้นเปิดช่องให้มีการยกเว้นสำหรับโรงเรียนกลุ่มนี้หรือไม่ ถ้าไม่มีจะมีการออกประกาศเพิ่มเติมให้โรงเรียนทางเลือก โรงเรียนกลุ่มเป้าหมายเฉพาะไม่ต้องนำ O-Net ไปถ่วงน้ำหนัก GPAX 
       
       เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้หยิบยกเรื่องการสอบ O-Net มาหารือว่าจำเป็นต้องสอบ O-Net ครบทุกทั้ง 8 กลุ่มสาระวิชาหรือไม่ หรือน่าจะลดลงไปสอบเฉพาะวิชาที่เป็นทักษะจำเป็น ซึ่งน่าจะสามารถสะท้อนคุณภาพการศึกษาได้ โดยไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดมาสอบทุกกลุ่มสาระวิชา เหมือนอย่างการสอบ PISA ที่เป็นการประเมินผลการจัดการศึกษาระดับนานาชาตินั้น จะมีการประเมินแค่ 3 ด้าน คือ ความสามารถทางภาษา ความสามารถในการคิดคำนวณ และความสามารถในการคิดวิเคราะห์แก้ปัญหา นอกจากนั้น ยังมีการพูดกันอีกว่า หลักสูตรของแต่ละช่วงชั้นที่กำหนดเป็น 8 กลุ่มสาระวิชาเหมือนๆ กันนั้น อาจจะหนักเกินไป สำหรับเด็กบางช่วงชั้นไม่จำเป็นต้องเรียนถึง 8 กลุ่มสาระวิชา ดั้งนั้น สพฐ.จะตั้งคณะกรรมการขึ้นดึงทุกฝ่ายมาร่วมเป็นกรรมการ และศึกษาวิจัยเพื่อรวบรวมข้อมูลและนำไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
       
       นายไมตรี ศรีสกุลไทย ผู้ อำนวยการโรงเรียนหนองชุมแสงวิทยา กล่าวว่า โรงเรียนของตนไม่ขอสอบ O-Net เนื่องจากเด็กนักเรียนของโรงเรียนนั้น มีความหลากหลายมีทั้งเด็กที่อยู่กับโรงเรียน และเด็กที่มีปัญหาและไม่ได้อยู่กับที่โรงเรียนจึงเป็นข้อจำกัด และมองว่าควรจะเน้นส่งเสริมเรื่องทักษะชีวิตให้แก่เด็กจะเหมาะสมกว่า อย่างไรก็ตาม ตนเห็นด้วยหากจะจัดสอบ O-Net แต่ควรสอบกับนักเรียนในกลุ่มที่เรียนอยู่กับที่และติดตามตัวได้ ขณะเดียวกัน ตนเสนอว่า เมื่อ สพฐ.ประกาศใช้นโยบายดังกล่าวแล้วควรจะทำวิจัยควบคู่ไปด้วยเพื่อจะได้ข้อมูล ที่ชัดเจนว่าการใช้นโยบายนี้ในแต่กลุ่มนั้นได้ผลเหมาะสมเพียงใด
       
       ด้าน น.อ.หญิง เรณู จิรสัทธรรม ร.น.อาจารย์ ที่ปรึกษา โรงเรียนเตรียมทหาร กล่าวว่า ทางโรงเรียนเตรียมทหาร มีความต้องการสอบ O-Net เพราะเราก็ต้องเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนเช่นกัน เพียงแต่ว่าการจะนำคะแนนไปใช้ให้มีผลกับการจบการศึกษานั้นเป็นปัญหาสำหรับ โรงเรียน เพราะห้วงเวลาประกาศคะแนน O-Net นั้น ไม่ทันต่อการนำไปใช้ และช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ก็เป็นช่วงที่นักเรียนจะต้องถูกส่งตัวขึ้นประจำ เหล่า และแม้จะมีเด็กที่หลุดจากเหล่าก็มีเพียงปีละ 2-3 คนเท่านั้น เพราะฉะนั้นหากจะใช้ก็สามารถแก้ปัญหาได้เฉพาะบุคคลเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา โรงเรียนพยายามส่งเสริมให้แต่ละเหล่าพิจารณานำคะแนน O-Net ไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของการคัดเลือกเด็กได้ทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เด็กตั้งใจในการสอบ O-Net
       
       นางรัชนี ธงไชย ครู ใหญ่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก กล่าวว่า เด็กที่โรงเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กด้อยโอกาส การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนจะเน้นการวิชาการครึ่งวันเช้าและครึ่งวัน บ่ายจะสอนวิชาชีพ และการสอนจะเป็นแบบบูรณาการโดยเน้นว่าหากเด็กจบออกไปจะมีทักษะวิชาชีพเพื่อ ออกไปทำงานได้ ทำให้หากจะสอบ O-Net ทำได้ลำบากบางคนสามารถเรียนได้ บางคนไม่ได้ที่ผ่านมาทางโรงเรียนจะให้เด็กเป็นผู้เลือก หากใครเลือกจะเรียนต่อที่สูงขึ้นและเลือกสอบโรรงเรียนจะเพิ่มเวลาสอนเพื่อ เตรียมความพร้อมให้แก่นักเรียน ส่วนตัวมองว่าการสอบ O-Net เป็นการบีบคั้นเด็ก ดังนั้น ทางโรงเรียนหมู่บ้านเด็กจึงไม่อยากจะสอบ
       
       ขณะที่ นางศศิธร อหิงสโก  ผู้ อำนวยการสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า ถ้าเอาคะแนน O-Net มาถ่วงน้ำหนัก GAPX แล้วคะแนนมีการเปลี่ยนแปลงสูง เช่น จากเดิม 4.00 เหลือ 3.50 ทปอ.จะหนักใจว่าจะใช้ค่าคะแนนไหนดี ขณะที่ตัวเด็กเองอาจจะออกมาโวยได้ เพราะเด็กที่ได้ 4.00 ในประเทศไทยมีกว่า 10,000 คน ถ้าคะแนน GPAX เขาถูกลดคงไม่ยอมแน่ เพราะฉะนั้น อยากให้ สพฐ.มีการจำลองทดลองทำดูก่อนที่จะประกาศใช้จริง
  
       ด้าน ดร.ทรายทอง พวกสันเทียะ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาและบริหารการทดสอบการศึกษาขั้นพื้นฐาน สทศ. กล่าวว่า เมื่อ นำคะแนน O-Net มาใช้เป็นองค์ประกอบในการประเมนจบช่วงชั้นปีการศึกษา 2555 นักเรียนไม่ต้องกังวลจะทำให้คะแนน GPA ต่ำลง เพราะสัดส่วนนำมาใช้แค่ 20% อีกทั้งคะแนน O-net จะต้องนำคะแนนมาแปลงก่อนจึงจะนำไปใช้ โดยเบื้องต้น สทศ.จะแปลงคะแนน O-Net ออกเป็น 7 ช่วง และให้จุดตัดคะแนนขั้นต่ำไม่ได้ฟิกที่ 50:50 แต่จะดูจากคะแนนสูง-ต่ำในแต่ละปี เช่นปีการศึกษา 2554 ที่ผ่านมา วิชาภาษาอังกฤษ ม.6 สทศ.กำหนดจุดตัดที่ 25 คะแนน และคะแนนระดับที่ 1 จะเริ่มจากที่ 25-30 คะแนน ระดับอื่นก็ไล่ขึ้นไป
   
     UniGang.com    แม้  ดร.ทรายทอง พวกสันเทีย  จะไม่ต้องกังวล ก็ดูจะสบายใจเกินไปนะครับ  เพราะเด็ก ม.6 รุ่นปัจจุบันก็เสียเปรียบอยู่ดี เพราะใน Admissions  ม.6 ไม่ได้แข่งเฉพาะ ม.6 รุ่นเดียวกัน แต่ยังต้องแข่งกับเด็กซิ่วจำนวนมาก    โดยตัวอย่างจาก Admissions 55
 คณะทันตแพทย์ มีจำนวนสูงสุด จาก 8 สถาบัน รับ 223 คน มีเด็กซิ่ว 135 คน คิดเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ คณะเภสัชศาสตร์ 16 สถาบัน รับ 1,127 คน มีเด็กซิ่ว 558 คน คิดเป็น 49 เปอร์เซ็นต์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ รับ 140 คน มีเด็กซิ่ว 50 คน คิดเป็น 35 เปอร์เซ็นต์ คณะเภสัชศาสตร์ สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม จุฬาฯ รับ 190 คน มีเด็กซิ่ว 90 คน คิดเป็น 47 เปอร์เซ็นต์ คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ รับ 252 คน มีเด็กซิ่ว 74 คน คิดเป็น 29 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขดังกล่าวรวบรวมมาจากการประกาศผลเป็นรายโรงเรียน โดยดูจากรหัสปีที่จบ
      สุดท้ายเราคงแก้ไขอะไรไม่ได้ ในเมื่อผู้ใหญ่ในวางการศึกษาเค้าตัดสินใจกันมาแล้ว เราได้แต่ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดนะครับ

Credit   Manager.co.th