อนาคตไทยจะเป็นอย่างไร ? เยาวชนเกือบ 2 แสน ยังเตะฝุ่น

UploadImage

ปัจจุบันสังคมไทยมีความซับซ้อน หลากหลายมิติมากขึ้น ประเด็นทางสังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี และต่างประเทศ ต่างเชื่อมโยงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต

การจะผลักดันให้ประเทศเจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างมั่นคง และยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจในสภาพการณ์ที่ชัดเจน การกำหนดทางเลือกทางนโยบายที่เหมาะสม ทั้งในระยะสั้น ระยะยาว

รวมถึงมีการบริหารจัดการอย่างประสานกันทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ประชาชน เอกชน และวงการวิชาการ

และแม้จะบอกว่า ไทยจะมีศักยภาพในการพัฒนา  แต่กลับมีความเป็นห่วงเป็นใยเกิดขึ้นถึงการขาดทิศทางและกลยุทธ์ที่ชัดเจน สำหรับอนาคตประเทศ ภายใต้ความท้าทายของสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เราจะเห็นว่า การพิจารณาเชิงนโยบายสำคัญๆ บ่อยครั้งขาดการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานที่เหมาะสม การเสนอทางเลือกไม่ชัดเจน ไม่ครบทุกมิติ

ประเด็นนี้ตัวจักรสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจ ก็มองเห็น และกำลังหาข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ ชัดเจน ไม่สบสน

ตอนที่แล้ว เราได้นำเสนอการวิเคราะห์ 1 ใน 4 เสาหลักการพัฒนาประเทศ จุดเริ่มต้นของนโยบายเพื่ออนาคต  ที่จัดทำโดยสถาบันอนาคตไทยศึกษา ไปแล้ว

นั่นก็คือ ภาคสาธารณะ (คลิก) ที่ควรมีทรัพยากรที่เพียงพอ มีการบริหารจัดการที่ดี



คราวนี้ มาดู 3 เสาที่เหลือ เริ่มที่ "ภาคประชาชน" จะมีความเข้มแข็งได้ ต้องมีโอกาส โดยเฉพาะโอกาสทางการศึกษา...

UploadImage

กว่าครึ่งครอบครัวไทย ไม่มีเงินส่งลูกเรียนสูงกว่า ม.ต้น

"โอกาส" คำนี้ ดู ได้จากตัวเลข 19.6 ล้านครัวเรือนไทย มีเพียง 7 แสนครัวเรือน หรือ 3.6% มีศักยภาพทางการเงิน หรือมีเงินออมเพียงพอส่งบุตรหลานเรียนได้สูงสุดถึงระดับ ปวช.

- 1.7 ล้านครัวเรือน หรือ 8.7% สามารถส่งบุตรหลานเรียนได้ถึง ปวส.

และอีก 7.1 ล้านครัวเรือน หรือ 36.2% สามารถส่งบุตรหลานเรียนได้สูงสุดระดับปริญญาตรี

ในขณะที่อีก 10.1 ล้านครัวเรือน หรือ 51.5% ไม่มีศักยภาพทางการเงินพอที่จะส่งบุตรหลานเรียนในระดับดังกล่าว !!

45% ของคนว่างงาน เป็นเยาวชน

เมื่อจบแล้วมีงานทำหรือไม่ ?


จากข้อมูลปี 2553 แสดงให้เห็นว่า ในจำนวนคนว่างงาน 4.3 แสนคน เป็นแรงงานเยาวชนที่ว่างงานถึง 1.9 แสนคน หรือคิดเป็น 45% ของจำนวนคนว่างงานทั้งหมด

สถาบันอนาคตไทยศึกษา ชี้นี่ถือเป็นสัญญาณไม่ดีนักที่พบว่า แรงงานเยาวชน ซึ่งจะเป็นแรงงานขับเคลื่อนอนาคตประเทศ เริ่มมีปัญหา

75% ทำงานไม่ตรงวุฒิ

และต่อให้มีงานทำแล้ว เขาเหล่านั้น ได้ทำงานตรงวุฒิการศึกษาหรือไม่?

จากการศึกษา พบว่า มีแค่ 1 ใน 4 เท่านั้น ที่ทำงานตรงกับวุฒิการศึกษา  ที่น่าห่วง การจ้างงานแรงงานทักษะจำนวน 18.6 ล้านคน เช่น ซ่อมตู้เย็น ซ่อมวิทยุ ซ่อมมอเตอร์ไซด์ หรือช่างฝีมือ เป็นแรงงานที่จบมาตรง คือจบระดับ ปวช. ปวส. เพียง 2.9 ล้านคน

อีก 15.7 ล้านคนถูกเติมเต็มด้วยแรงงานวุฒิ ม.ต้น และแรงาน ป.ตรี ที่จบออกมามากกว่าความต้องการของตลาด

และนี่จึงเป็นคำถาม เมื่อแรงงานไทยจบออกมาแล้วทำงานไม่ตรงวุฒิ ความก้าวหน้า อยู่ตรงไหน อีกทั้งเมื่อดูจากค่าจ้างแท้จริง (หักเงินเฟ้อออก) ในทุกระดับการศึกษา ไม่เพิ่มขึ้นเลยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ( 2544-2553)

โจทย์ท้าทายนี้ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษา มองว่า  หากสังคมไทยไม่ตัดสินใจทำเรื่องยากๆ หรือคิดทำสิ่งที่ไม่ใช่ประชานิยมวันนี้ อนาคตไทยก็จะค่อยๆ ฝ่อ ไปเรื่อยๆ ปล่อยไปตามยถากรรม

"การที่เราจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้ จำเป็นต้องอาศัยนวัตกรรม โดยคนของเราต้องสามารถดึงเอาจุดแข็ง ความแตกต่างมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ซึ่งกว่าจะไปถึงจุดนั้น ต้องเริ่มด้วยระบบการศึกษา"

ดร.เศรษฐพุฒิ บอกว่า ระบบการศึกษาไทย ทำอย่างไรจึงจะเปลี่ยนจาก "เรียนเพื่อสอบ มาเรียนเพื่อทำงาน" ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทยทุ่มงบฯ ด้านการศึกษาลงไปมหาศาล ประกอบกับชั่วโมงเรียนของเด็กไทย แต่ผลการสอบกลับใช่ว่าจะดี ทำงานก็ไม่ดี และยิ่งนับวันคนจบปริญญาตรีออกไปทำงานเป็นเสมียนมากถึง 30%

ในเมื่อคุณภาพของคนไทย เป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญประการหนึ่งที่จะผลักดันประเทศให้เจริญก้าวหน้าไปในทิศทางที่เราอยากเห็น

ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ กรรมการสถาบันฯ ยอมรับว่า คุณภาพของคนไทย ในแง่ของการเป็นทรัพยากรที่สนับสนุนการผลิต เรายังต้องการแรงงานที่มีคุณภาพอีกมาก อีกทั้งในอนาคตข้างหน้า ประเทศไทยกำลังก้าวอย่างเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงมีโอกาสสูง จะขาดแคลนแรงงานมีฝีมือ ถึงที่สุดแล้วเราอาจต้องพึ่งพิงแรงงานต่างชาติมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558

"วิธีหนึ่งของคุณภาพคนไทย คือ การเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศและของสังคมโลก มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และมีความปรองดองที่จะร่วมกันสนับสนุนความก้าวหน้าของประเทศ ซึ่งการจะสร้างคนไทยให้มีคุณภาพจำเป็นต้องเริ่มต้นตั้งแต่วัยเรียน อนาคตของไทยจะขึ้นอยู่กับเด็กไทยที่เติบโตขึ้นมาเป็นคนเก่ง เป็นคนดี คิดเป็น ทำเป็น มีความทันสมัย และมีนวัตกรรม นั่นหมายถึงว่า กระบวนการการเรียนการสอนจะต้องเน้นความรู้ในเชิงลึกและกว้าง"

ขยายความให้เข้าใจง่ายขึ้น ความรู้เชิงลึกเพื่อให้มีวิชาชีพไปทำงาน ความรู้เชิงกว้างเพื่อให้เข้าใจสังคม จนกระทั้งกลายเป็นคนที่สมบูรณ์ที่อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข มีคุณค่า

นอกจากนั้นการเรียนรู้จากการทำงานในองค์กรภาครัฐ เอกชนแล้วดร.ชัยวัฒน์ ชี้ว่า ต้องมีการชี้แนะ ส่งเสริม และสร้างตัวอย่างที่ดี เพื่อทำให้เขาเหล่านั้นเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าสูง

และนี่คือโจทย์ที่ท้าทายหนึ่ง ที่เราต้องตัดสินใจวันนี้ เพื่ออนาคตไทย
UploadImage

มีอินเตอร์เน็ตมาก เน้นบันเทิง

ภาคเอกชน

หากพิจารณาโครงสร้างทางธุรกิจของไทย ซึ่งเป็นรากฐานอนาคต จะพบว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับบริษัทใหญ่เพียงไม่กี่บริษัท จากจำนวนเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จัดเก็บในปี 2554 มูลค่า 5.7 แสนล้านบาทนั้น 21% ของเม็ดเงินภาษีที่เก็บได้ มาจาก 5 บริษัทใหญ่

เมื่อพิจารณาการจ้างงาน พบว่า แรงงานในภาคเอกชน 78% ทำงานอยู่ใน SMEs โดยบริษัทเล็กๆ เหล่านั้น กลายเป็นรากฐานการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่แท้จริง มีการจ้างงานสูง โดยเฉพาะต่างจังหวัด พื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้

สถาบันอนาคตไทยศึกษา เสนอว่า สิ่งที่เราควรตัดสินใจ

-ส่งเสริมให้บริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลางของไทยไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน การแสวงหาทรัพยากรเพิ่ม การหาตลาดใหม่

- สำหรับธุรกิจ SMEs ต้องเพิ่มศักยภาพด้วยการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทำอย่างไรให้ธนาคารพาณิชย์สามารถให้วงเงิน ธุรกิจ SMEs ได้สะดวก และเพิ่มมากขึ้น พร้อมแนะนำแก้ไขข้อจำกัดต่างๆ ด้วย

โครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคต

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า โครงสร้างพื้นฐานและนวัตกรรม เป็นพื้นฐานของการพัฒนาในอนาคต ซึ่งเราอาจเห็นตัวเลขเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานบางตัวที่ดูดี

แต่....

"นวัตกรรม" การพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญา เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ การวิจัยและพัฒนาจำเป็นต้องอาศัยทั้งเวลาและงบประมาณจำนวนมาก มีข้อมูลของกรมทรัพย์สินทางปัญญาปี 2554 ระบุชัดถึงสัดส่วนจำนวนการจดสิทธิบัตร โดยคนไทย มีเพียง 1 ใน 3 ของการจดสิทธิบัตรทั้งหมด

และส่วนใหญ่เป็นสิทธิบัตรการออกแบบ มากกว่า สิทธิบัตรประดิษฐ์ (Invention patent) ซึ่งมี เพียง 2% เท่านั้น

มองมุม "สารสนเทศและการสื่อสาร" กันบ้าง

คนไทยส่วนใหญ่ใช้อินเตอร์เน็ต เพื่อความบันเทิง มากกว่าเพื่อการศึกษาหาความรู้ ดังจะเห็นจากสถิติการเข้าเว็บไซต์ไทย ที่คนไทยนิยมเข้ามากสุด ได้แก่ sanook.com, kapok.com และ mthai.com เฉลี่ยวันละกว่า 8 แสน IP

นอกจากนี้กรุงเทพฯ อย่างเดียวมีจำนวนบัญชี facebook ถึง 8.7 ล้านบัญชี นับว่า มากที่สุดในโลกและมากกว่าจำนวนบัญชีในนิวยอร์คและปารีสรวมกัน (6.5 ล้านบัญชี)

ยิ่งหากพิจารณาเรื่องคลังความรู้และการศึกษากลับพบว่า จำนวนบทความวิชาการภาษาไทยใน Wikipedia.com มีเพียง 74,000 บทความ เมื่อเทียบกับจำนวนบทความวิชาการภาษาเวียดนามที่มี 414,000 บทความ

....ไทยน้อยกว่าเวียดนามถึง 6 เท่า

สุดท้าย "พลังงานและการขนส่ง" ไทยมีการใช้พลังงานสิ้นเปลืองมากกว่า อียูถึง 4 เท่า

ขนาดพี่ใหญ่อย่างจีน เคยมีอัตราการใช้พลังงานต่อหนึ่งหน่วยของ GDP สูงกว่าไทย 6.5 เท่าในปี 2523 แต่สุดท้ายช่วงปี  2523 -2552 สามารถลดการใช้พลังงานลงกว่า 67% ขณะที่อัตราการใช้พลังงานของไทยสูงขึ้นกว่า 68% จนปัจจุบันอัตราการใช้พลังงานของจีนสูงกว่าไทยเพียง 26%

ฉะนั้น สิ่งที่ประเทศไทยควรทำอย่างจริงจัง ณ เวลานี้ ที่สถาบัน อนาคตไทยศึกษา เสนอคือ การเพิ่มประสิทธิภาพในเรื่องของการใช้พลังงาน เพราะปัจจุบันรายจ่ายที่เราลงไปกับการชดเชยราคา LPG นั้น มากกว่าเงินที่ลงไปในแผนอนุรักษ์พลังงานประมาณ 5 เท่า

ที่มา - สำนักข่าวอิศรา