บัณฑิตปริญญาตรี ตกงาน 1 ใน 3


ผลสำรวจความต้องการตลาดแรงงานไทยมีบัณฑิตจบใหม่ ว่างงานกว่า 1 แสนคน จาก 3 แสนคน จากสาขาวิชาไม่ตรงกับต้องการของตลาดแรงงาน และไทยต้องเร่งพัฒนาศักยภาพบัณฑิตสาขาการผลิตและอุตสาหกรรม เพื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

1 ใน 3 คนของบัณฑิตระดับปริญญาตรี คือผู้ที่ตกงานในปัจจุบัน นี่เป็นผลการสำรวจความต้องการของตลาดแรงงานไทย โดยบริษัทแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย บริษัทจัดหาแรงงานเชิงนวัตกรรมในเครืออุตสาหกรรม 82 แห่งทั่วโลก
โดยผลการสำรวจระบุว่า สาขาวิชาของนักศึกษาระดับปริญญาตรี ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และบัณฑิตในระดับปริญญาตรี ยังเป็นกลุ่มที่จบการศึกษามากที่สุดในประเทศอีกด้วย โดยแต่ละปี มีบัณฑิตจบใหม่ประมาณ 300,000 คน แต่จะตกงานถึง 1 แสนคนต่อปี หรือ 1 ใน 3 ของจำนวนผู้ว่างงานทั้งหมด
บริษัทแมนพาวเวอร์กรุ๊ป พบว่า แต่ละปียังมีแนวโน้มบัณฑิตใหม่ตกงานเพิ่มมากขึ้น โดยผลสำรวจตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2554 - 2555 พบว่า มีบัณฑิตว่างงานสูงถึง 152,000 คน จากจำนวนผู้ว่างงานทั้งหมด 300,000 คน นอกจากเรื่องความสามารถที่ไม่ตรงกับความต้องการแล้ว ยังพบปัญหาค่านิยมในการเลือกงาน ที่ต้องการได้ค่าตอบแทนสูง
เมื่อลงในรายละเอียดของบัณฑิตที่จบปริญญาตรีแล้ว ยังพบว่า สายการตลาดและประชาสัมพันธ์มีจำนวนสูงที่สุดคือร้อยละ14 รองลงมาคือฝ่ายธุรการ ทรัพยากรบุคคล และสื่อโฆษณา ซึ่งสวนทางความต้องการของตลาดแรงงาน ที่ต้องการแรงงานสายการตลาดและประชาสัมพันธ์เพียงร้อยละ 3 และไม่ต้องการสายสื่อโฆษณาเลย
ส่วนความต้องการที่แท้จริงคือผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ต้องการตลาดแรงงานกึ่งทักษะ หรือกลุ่มสายอาชีพมากกว่า เพราะมีอัตราค่าจ้างต่ำกว่า โดยแต่ละปี ต้องการแรงงานสายอาชีพ 100,000 คน หรือร้อยละ 33 ของอัตราความต้องการตลาดแรงงาน แต่มีบัณฑิตที่จบสายงานนี้เพียงร้อยละ4
ด้านนักวิชาการไทย คาดการณ์ว่า ปี 2558 ที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จะส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานทั้งระดับบนและระดับล่าง โดยประเทศไทยจะต้องพึ่งพาแรงงานระดับล่างจากพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม บังกลาเทศ ศรีลังกา ส่วนแรงงานระดับบนหรือแรงงานจบปริญญาตรีจะมีการแลกเปลี่ยนในกลุ่มประเทศอา เซียน เช่นแรงงานฝีมือกลุ่มบริการวิชาชีพ 6 สาขา คือ ทันตแพทย์ แพทย์ พยาบาล นักบัญชี วิศวกร สถาปนิก
ผู้วิจัย ยังเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการเตรียมความพร้อมและพัฒนาทักษะด้านภาษาภาษา อังกฤษ และภาษาที่ใช้อาเซียนให้กับนักศึกษาเพิ่มเติม และพัฒนาแรงงานภาคการผลิตและอุตสาหกรรม การใช้เครื่องจักรกล และคอมพิวเตอร์สารสนเทศ และอาจจะต้องปรับปรุงหลักสูตรการเรียน เพื่อผลิตบัณฑิตออกสู่ตลาดอาเซียน เช่นเดียวกับประเทศฟิลิปปินส์