สจล.จับมือ NUOL เปิดหลักสูตรวิศวะช่วยชาวลาวพร้อมก้าวสู่AEC

UploadImage

    ในอนาคตอันใกล้นี้ประตูอาเซียนจะเปิดตัวขึ้น หลายสิ่งหลายอย่างต้องปรับตัวเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ความสามารถเสริมรากฐานให้ประเทศมั่นคง
โดยเฉพาะวิชาความรู้ด้านวิศวกรรมมีผลอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วิศวกรรมถือเป็นสิ่งที่เสริมรากฐานให้ประเทศมีความมั่นคงเพิ่มขึ้น

เมื่องานด้านวิศวกรรมมีความจำเป็น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว จึงต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องมีวิศวกรที่มีความรู้ ด้วยเหตุนี้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จึงได้เปิดหลักสูตรปริญญาโทและเอกสาขาต่าง ๆ ด้านวิศวกรรมศาสตร์ในมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว (NUOL) เพิ่ม ศักยภาพการศึกษาแก่นักศึกษา และอาจารย์ให้แก่ สปป.ลาว และมุ่งพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถ เสริมความเข้มแข็งทางการแข่งขันให้กับประเทศเพื่อนบ้าน

รศ.ดร.กิตติ ตีรเศรษฐ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า สจล. และ NUOL จะได้เข้ามาพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อต้อนรับการเป็นประชาคมอาเซียน ร่วมกัน หลักสูตรที่น่าสนใจ อาทิ สาขาวิชาโทรคมนาคม สาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ และสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ ซึ่งอาเซียนจำเป็นต้องพึ่งพางานวิศวกรรม การศึกษาด้านนี้มีความต้องการสูง ความร่วมมือดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือกันและกัน ทั้งสองประเทศได้พัฒนาและสร้างเครือข่าย แสดงศักยภาพงานทางด้านศึกษา รวมถึงการพัฒนาอาเซียนด้วย ซึ่งอาเซียนเป็นเป้าหมายแรกในการสร้างเครือข่ายของ สจล. นอกจากนี้ รศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวเสริมว่า เมื่อประชาคมอาเซียนเปิดตัว เศรษฐกิจของ สปป.ลาวจะแข็งแกร่งขึ้น การที่ สจล.สนับสนุนด้านการศึกษาเพื่อผลทางเศรษฐกิจในอนาคต ปัจจุบันเศรษฐกิจ สปป.ลาวเติบโตขึ้น มีการใช้พลังงานมากขึ้น สิ่งที่คาดหวังคือได้ใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน เป็นน้ำใจซึ่งกันและกัน

ตัวแทน NUOL กล่าว ว่า มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ต้องการความช่วยเหลือเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน และได้ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหลายแห่งเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ได้ส่งนักศึกษาและอาจารย์ไปยังมหาวิทยาลัยในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งรุ่นเก่า รุ่นกลางและรุ่นใหม่ เพื่อไม่ให้มีการทิ้งช่วงห่างเกินไป จากปี ค.ศ. 2006 – 2009 มีอาจารย์ของ ม.แห่งชาติลาวจบปริญญาโทเพิ่มขึ้นถึง 6 คน และกล่าวว่า สจล.เป็นสถาบันที่มีความสามารถทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ การลงนามร่วมกันเพื่อง่ายในการประสานงานให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งทั้ง 2 สถาบันมีการแลกเปลี่ยนกันในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา อาจารย์ รวมไปถึงงานวิจัยต่างๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างความแข็งแกร่ง และส่งผลดีต่ออาเซียนให้สามารถพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีให้ก้าวหน้าทัดเทียม กับประเทศที่เจริญแล้ว

ประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมีภาษาซึ่งเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิม ไม่ต่างกันนัก นักศึกษาเมื่อจบการศึกษาแล้ว จะได้นำความรู้มาพัฒนาการศึกษาของประเทศตน ต่อไปบุคลากรของ สปป.ลาวจะมีคุณภาพ เป็นรากฐานการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต ซึ่งประเทศจะมีขีดความสามารถในการพัฒนามากน้อยเพียงใด การศึกษามีส่วนช่วยเสริมที่สำคัญ หากการศึกษาของประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนมีคุณภาพ อนาคตที่สดใสคงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม
ข่าว - สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์