"ห้องเรียนบ่ายบดินทรฯ" การเมืองแก้การศึกษาไร้ผล

UploadImage

จบลงแบบ "ไม่" ค่อยสวยงามเท่าใดนัก... กรณีนักเรียนชั้น ม.3 เดิม ของ "โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)" ที่ ออกมาประท้วงอดข้าวอยู่ข้างทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล กระทรวง
ศึกษาธิการ (ศธ.) และโรงเรียนบดินทรฯ รับนักเรียนกลุ่มนี้ประมาณ 200 กว่าคน ที่คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด เข้าเรียนชั้น ม.4 โดยมีพ่อแม่ และผู้ปกครอง เป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ!!

เพราะแม้ว่าท้ายที่สุด ทางผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และโรงเรียนบดินทรฯ จะได้ข้อสรุปในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าร่วมกัน โดยให้เปิดห้องเรียน "รอบบ่าย" ให้กับนักเรียนกลุ่มนี้ โดยมีนักเรียนที่กลับเข้าเรียนในโรงเรียนบดินทรเดชาฯ เพียง 30 คน จากที่ลงชื่อยืนยันว่าไว้ก่อนหน้านี้ 50 กว่าคน

โดย สพฐ.พร้อมสนับสนุนเรื่องงบประมาณ และครูอย่างเต็มที่ เพราะครูต้องมีภาระงานสอนเพิ่ม ขณะที่โรงเรียนต้องจ่ายค่าตอบแทนพิเศษล่วงเวลาให้กับครูผู้สอนเพิ่มขึ้น ด้วย...

ซึ่งเบื้องลึกเบื้องหลังที่ ศธ. , สพฐ. และโรงเรียนบดินทรฯ ยอมเปิดห้องเรียนรอบบ่ายนั้น "นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์" เลขาธิการ คณะกรรมการภาคีเครือข่ายต่อต้านการคอร์รัปชั่นแห่งชาติ ออกมาป่าวประกาศว่าเป็นเพราะความช่วยเหลือของประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ "พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์"

อย่างไรก็ตาม หลังโรงเรียนบดินทรเดชาฯ เตรียมเปิดห้องเรียนบ่ายให้กับนักเรียนชั้น ม.3 เดิม กระแสข่าวการยื่นหนังสือลาออกของ "นายสุวัฒน์ วิวัฒนานนท์" ผู้อำนวยการโรงเรียนบดินทรเดชาฯ ก็ดังกระหึ่มขึ้น บวกกับ "คุณครู" ในโรงเรียนบดินทรเดชาฯ อีกหลายคน เตรียมจะยื่นหนังสือลาออกตามนายสุวัฒน์

แต่เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน "นายชินภัทร ภูมิรัตน" ได้ สั่งการไปยังผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 2 ให้ยับยั้งหนังสือลาออกเอาไว้ก่อน หากมีหนังสือลาออกจากนายสุวัฒน์ส่งไปถึง และไม่เชื่อว่านายสุวัฒน์ซึ่งเดินทางไปสหรัฐอเมริกา จะยื่นหนังสือลาออกจริงๆ

แม้ข้อสรุปให้เปิดห้องเรียนรอบบ่าย ที่หลายๆ ฝ่ายจะมองว่าเป็น "ทางออก" ที่ดีที่สุด (เลือกไม่ได้) ในขณะนั้น ก็ได้บ่มเพาะ "ความขัดแย้ง" ให้ เกิดขึ้นภายในโรงเรียนในระดับต่างๆ จนเกิดการประท้วงโห่ไล่ ทั้งนายมงคลกิตติ์ รวมถึง นักเรียนชั้น ม.3 เดิมกลุ่มนี้ด้วย ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีปัญหาตามมา แม้ว่า "ครู" ทุกคนจะยืนยันว่านักเรียนทุกคนเป็นลูกศิษย์ จะดูแล และสอนอย่างเต็มที่ก็ตาม

ในที่สุด มีนักเรียนชั้น ม.3 เดิม ยืนยันเข้าเรียนในชั้น ม.4 รอบบ่าย เพียง 30 คน จากที่ลงชื่อไว้ 50 กว่าคน โดยนักเรียนที่ไม่ได้มาเข้าเรียนในห้องเรียนรอบบ่าย ได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่ทางเขตพื้นที่การศึกษาจัดไว้ให้ก่อนหน้านี้แล้ว เพราะต้องยอมรับว่าแรงกดดันที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้ปกครอง และนักเรียนหลายต้อง "ถอนตัว" เพราะมองว่าหาก "ดันทุรัง" ให้ลูกเข้าเรียนในโรงเรียนบดินทรเดชาฯ ในห้องเรียนรอบบ่ายต่อไป น่าจะเป็น "ผลเสีย" มากกว่า "ผลดี"!!

เพราะการเข้าเรียนในห้องเรียนรอบบ่ายของโรงเรียนบดินทรเดชาฯ แม้จะเป็นโรงเรียนดัง แต่ก็ถูกแบ่งแยกจากกลุ่มเพื่อนนักเรียนด้วยกัน และถูกมองว่าเป็น "นักเรียนชั้นสอง" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ฉะนั้น การไปเรียนชั้น ม.4 ในโรงเรียนอื่นๆ แม้จะไม่มีชื่อเสียงโด่งดังเท่าโรงเรียนบดินทรเดชาฯ แต่ลูกๆ หลานๆ ก็สามารถเรียนร่วมกับเพื่อนนักเรียนคนอื่นๆ ได้อย่างเปิดเผย เพราะไม่มีการแบ่งแยกห้องเรียนเป็น "รอบปกติ" และ "รอบบ่าย" ทำให้ลูกหลานไม่ต้องรับแรงกดดันเหมือนนักเรียนที่พ่อแม่ยืนยันจะให้เข้าเรียนในห้องเรียนรอบบ่ายของโรงเรียนบดินทรเดชาฯ

ดูเหมือนการแก้ปัญหาของ สพฐ. และผู้บริหารโรงเรียนบดินทรฯ โดยการเปิดห้องเรียนรอบบ่าย น่าจะเป็นทางการที่สวยงาม...

แต่จริงๆ แล้ว กำลังสร้างปัญหา และค่านิยมที่ผิดๆ ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ "กฎหมู่" มาบีบบังคับให้ "โรงเรียนดัง" เปิดรับนักเรียนเพิ่ม เมื่อผลการเรียน และคะแนนสอบไม่ถึงเกณฑ์ที่จะเลื่อนจากชั้น ม.3 ขึ้นสู่ชั้น ม.4 ในโรงเรียนเดิม

เพราะในปีต่อๆ ไป หากนักเรียนชั้น ม.3 คนใด ที่คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ที่ทางโรงเรียนกำหนดไว้ พ่อแม่ หรือผู้ปกครอง ก็จะพากันชักนำลูกๆ หลานๆ ให้ออกมาประท้วงอดข้าวกันอีก เพื่อบีบให้ "โรงเรียนดัง" ต้องเปิดห้องเรียนรอบบ่ายกันไม่จบไม่สิ้น

จากโรงเรียนดัง โรงเรียนที่มีชื่อเสียง และเป็นโรงเรียนที่ใครๆ ก็อยากเข้าเรียน เนื่องจากได้รับการยอมรับว่ามี "คุณภาพ" ระดับ ต้นๆ ของประเทศ ก็จะกลายเป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพระดับกลางๆ และต่ำลงเรื่อยๆ เพราะใครอยากเข้าก็เข้าได้ ใครที่ออกมาอดข้าวประท้วงก็มีสิทธิเข้าเรียน แล้วถามว่า "คุณภาพ" การเรียนการสอนของโรงเรียนจะอยู่ที่ไหน!!

และตราบใดที่โรงเรียนในประเทศไทยกว่า 3 หมื่นโรง ยังมีคุณภาพมาตรฐานไม่เท่าเทียมกัน การกำหนด "กฎ" และ "กติกา" ในการรับนักเรียน จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และถ้าจะให้โรงเรียนดี เด่น ดัง รับทุกคนเข้าเรียนทั้งหมด ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อีก หรือจะให้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนทุกแห่งทั่วประเทศไทย เป็นชื่อ "โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา" หรือ "โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย" หรือ "โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์" หรือ "โรงเรียนบดินทรเดชาฯ" ก็เป็นไปไม่ได้อีกเช่นกัน...

UploadImage
ยิ่งกรณี "นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช" รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ศึกษาธิการ เกิดไอเดียกระฉูด เสนอนโยบายที่จะใช้แก้ปัญหาในปีการศึกษาหน้า โดยเสนอให้โรงเรียนที่มีชื่อเสียงขยายห้องเรียนชั้น ม.4 และให้เปิดห้องเรียนภาคบ่ายรองรับ แต่หากยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ก็ให้เปิดห้องเรียน "ภาคค่ำ" เพราะต้องการเปิดโอกาสให้เด็กๆ ในต่างจังหวัดที่อยากเข้าเรียนในโรงเรียนดังๆ มีโอกาส และจะทำให้ครูมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย

ถือเป็นการ "หาเสียง" และ "เอาใจ" พ่อแม่ ผู้ปกครอง และนักเรียน มากกว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหา หรือการยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทย!!

ซึ่งแนวทางดังกล่าวได้รับการคัดค้านจากผู้บริหารโรงเรียนดังหลายๆ แห่ง เพราะมองว่าจะส่งผลกระทบกับคุณภาพการเรียนการสอนมากกว่า เพราะโรงเรียนส่วนใหญ่ยังขาดแคลนครู และการเปิดสอนรอบบ่าย และรอบค่ำ จะยิ่งเพิ่มภาระงานให้กับครู...

อย่าง "นายเชิดศักดิ์ ศุภโสภณ" ผู้อำนวยการโรงเรียนสวน กุหลาบวิทยาลัย มองว่าแนวทางของนายสุชาติไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน เพราะในเรื่องของคุณภาพของการจัดการเรียนการสอนในแต่ละรอบ ย่อมไม่เท่ากัน เมื่อนั้น พ่อแม่ และผู้ปกครอง ก็ต้องออกมาร้องเรียนกันอีก จึงจำเป็นต้องมีแผนในการแก้ไขปัญหาระยะยาว หรือแม้แต่มีผู้เสนอให้เปลี่ยนชื่อโรงเรียน โดยใช้ชื่อโรงเรียนที่มีชื่อเสียงนั้น ผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบมองว่า การเปลี่ยนชื่อไม่ได้หมายความว่าคุณภาพของโรงเรียนจะเท่าเทียมกัน

ส่วน "นางจำนงค์ แจ่มจันทรวงษ์" ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรี วิทยา เห็นว่าการแก้ปัญหาโดยให้เปิดห้องเรียนรอบบ่าย ควรจะเป็นแนวทางที่ใช้เฉพาะโรงเรียนบดินทรเดชาฯ เท่านั้น เพราะถ้าให้ทุกโรงเรียนเปิดห้องเรียนรอบบ่ายเพื่อรองรับความต้องการของเด็ก อาจทำให้เกิดปัญหา ทั้งการจัดการเรียนการสอน จำนวนครู และงบประมาณ รวมถึง จะส่งผลกระทบต่อโรงเรียนอื่นๆ มีเด็กเข้าเรียนน้อยลง

ฉะนั้น ทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้ ทั้งยังเป็นการยกระดับมาตรฐานการศึกษาของไทยให้ไปสู่สากล คือรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ควรจะต้องหันมาทุ่มเท และเอาจริงเอาจังกับการยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทย ไม่ใช่จ้องแต่จะใช้ "การศึกษา" เป็นเครื่องมือในการหาคะแนนนิยม

เพราะเวลา "หาเสียง" เพื่อให้ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็น "รัฐบาล" ได้ประกาศนโยบายสวยหรู พอเข้ามาเป็นรัฐบาลได้ ก็ส่ง "ใคร" ที่ไหนก็ไม่รู้ เข้ามาเป็นรัฐมนตรี ศธ.บางคนความรู้เรื่องการศึกษาก็ไม่มี แถมบางรายเป็น "นักธุรกิจ" ที่คิดแต่จะเข้าไปทำมาหากินกับเด็กๆ และเยาวชนตาดำๆ ขณะที่ "ผู้นำ" รัฐบาล ก็ทำเป็นทองไม่รู้ร้อน...

ปล่อยให้ "การศึกษาไทย" ตกอยู่ในวังวงของ "วงจรอุบาทว์"!!

ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าย้อนกลับไปถามว่ากรณีนักเรียนประท้วงเพื่อกดดันให้โรงเรียนบดินทรฯ รับกลับเข้าเรียน "ใครผิด..ใครถูก" คงเป็นปัญหาโลกแตก... เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลที่จะเข้าข้างตัวเอง

แต่ถ้าตราบใดรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารการศึกษาในระดับต่างๆ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ยังทำไม่รู้ไม่ชี้ คิดแต่จะ "แก้ผ้าเอาหน้ารอด"...

ก็ต้องถือเป็น "เวรกรรม" ของเด็กไทย ที่ต้องก้มหน้ารับกรรมกันต่อไป จนกว่า "ผู้ใหญ่" ในบ้านในเมือง..จะ "สำนึก" ขึ้นมาได้...

ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะมีวันนั้นหรือไม่??

บทความ- สำนักข่าวอิศรา