สธ.รับปี 55 ยังขาด "แพทย์ เภสัช ทันตะ" ถึง 14,681 คน

 UploadImage

สธ.” ส่งแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชป้ายแดง ลงทำงานในโรงพยาบาลในสังกัด ปีนี้ 2,468 คน เผยในปี 2555 นี้ กระทรวงสาธารณสุขยังขาดแคลนบุคลากรทั้ง 3 วิชาชีพมากถึง 14,681 คน

เมื่อ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา  ที่โรงแรมสีดารีสอร์ท จ.นครนายก นพ.โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดอบรม ปฐมนิเทศ แพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกรที่จบใหม่ในปีการศึกษา 2555 เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะไปปฏิบัติงานในหน่วยงานต่างๆของกระทรวงสาธารณ สุขทั่วประเทศ

นพ.โสภณกล่าวว่า ในปีนี้มีบุคลากรที่สำเร็จการศึกษา และทำงานในโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ จำนวน 2,468 คน ประกอบด้วยแพทย์ 1,676 คน ทันตแพทย์ 472 คน และเภสัชกร 320 คน การปฐมนิเทศในครั้งนี้ เพื่อให้แพทย์จบใหม่ที่เข้ามาทำงานกับกระทรวงสาธารณสุขทุกคน เข้าใจในภาระหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข รับทราบแนวนโยบายแนวทางการปฏิบัติงาน และเรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆจากแพทย์รุ่นพี่ เพื่อนำไปปรับใช้ในการทำงานได้อย่างเหมาะสม

นพ.โสภณกล่าวต่อว่า อัตรากำลังคนของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2555 โดยเฉพาะสาขาแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกร ยังมีความต้องการเพิ่มอีกร้อยละ 20-60 ของจำนวนที่มีอยู่ขณะนี้ เพื่อกระจายบริการประชาชนอย่างทั่วถึง ในภาพรวมทั่วประเทศ มีความต้องการแพทย์ 40,620 คน แพทย์ 1 คน ต่อประชากร 1,800 คน ทันตแพทย์ 12,300 คน หรือ 1 คน ต่อประชากร 1,600 และเภสัชกร 14,560 คน เฉลี่ย 1 คน ต่อประชากร 7,500 คน โดยบุคลากรทั้ง 3 สาขาวิชาชีพที่อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขข้อมูลล่าสุด ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2555 มีแพทย์ทั้งหมด 12,252 คน คิดเป็นร้อยละ 59 ของกรอบอัตรากำลังที่ควรจะมีคือ 20,855 คน มีทันตแพทย์ทั้งหมด 3,747 คน คิดเป็นร้อยละ 44 ของกรอบอัตรากำลังที่ควรจะมีคือ 8,462 คน ส่วนจำนวนของเภสัชกรดีขึ้น มีปฏิบัติงานทั้งหมด 5,383 คน คิดเป็นร้อยละ 80 ของกรอบอัตรากำลังที่ควรจะเป็นคือ 6,736 คน รวมแล้วกระทรวงสาธารณสุขยังขาดแคลนบุคลากรทั้ง 3 วิชาชีพที่กล่าวมา 14,681 คน ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคบริการประชาชน โดยเฉพาะปัญหาผู้เจ็บป่วยต้องรอคิวตรวจรักษานาน

ดังนั้น เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรดังกล่าว โดยเฉพาะแพทย์ ซึ่งเป็นที่พึ่งหลักของประชาชนที่เจ็บป่วย และมีปัญหาการกระจายกำลังในพื้นที่ชนบท กระทรวงสาธารณสุขได้จัดโครงการผลิตแพทย์เพื่อชนบทเพิ่มขึ้นจากระบบการผลิต ปกติของคณะแพทยศาสตร์ต่างๆ ในโครงการกระจายแพทย์ 1 อำเภอ 1 ทุน ดำเนินการระหว่างปี 2548-2556 เป้าหมายผลิตจำนวน 3,232 ทุน เพื่อขยายโอกาสให้แก่คนที่เรียนในระดับอำเภอได้มีโอกาสเข้าเรียนแพทย์ เมื่อเรียนจบก็ให้ไปปฏิบัติงานชดใช้ทุนในอำเภอที่เป็นภูมิลำเนาของตนเอง เป็นเวลา 12 ปี ระหว่างเรียนรัฐก็จะมีค่าเล่าเรียนให้ด้วยคนละ 40,000 บาทต่อปี มีค่าเช่าหอพักเดือนละ 3,000 บาท และมีเงินเดือนให้ระหว่างเรียนเดือนละ 5,000 บาท จนจบการศึกษาตลอด 6 ปี จนถึงขณะนี้ มีผู้ได้รับทุนไปแล้ว 1,339 คน และปัจจุบันมีผู้เรียนสำเร็จออกมาแล้วทั้งหมด 115 คน

ข้อมูล http://www.manager.co.th