
ถ้าเป็นคอบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ หากนัดไหนเป็น “ศึกวันแดงเดือด” แมนฯ ยูฯ ดวลศัตรูตลอดกาล ลิเวอร์พูล แล้วละก็คงจะพลาดยาก หากไม่มีเหตุสุดวิสัยจริง ๆ อาทิ อกหัก รักตุ๊ด สะดุดกิ๊ก เข้ามากวนสมาธิ เพราะบอลคู่นี้นอกจากจะมี “ชุดแดง” เหมือนกันแล้ว ผลงานและสถิติย้อนหลังที่ผ่านมาถือว่าทัดเทียมสูสี ฟาดแข้งกันทีไรมันส์หยดติ๋ง ๆ ทุกที ชิมิ ชิมิ...
ถ้าชะแว้บกลับมาที่บ้านเรา ยุคนี้ “ไทยพรีเมียร์ลีก” ก็ใช่น้อยหน้า เพราะคู่แข่งบารมีอย่าง “เมืองทองหนองจอกยูไนเต็ด” กับ “ชลบุรี เอฟซี” ในฤดูกาลหน้าต่างเสริมทัพใหญ่แบบจัดเต็ม หรือที่กำลังแรงสุด ๆ จนแทบไร้คู่ต่อกร และคว้า 3 แชมป์ในปีนี้ไปได้อย่าง“บุรีรัมย์” ทีมเหล่านี้เจอกันเมื่อไหร่ต่างก็หวดกันมันสะแด่วแห้วเช่นกัน แถมมีแฟน ๆ แห่เชียร์นัดละเฉียดหมื่นคน อย่างนี้ถือว่าอนาคตโชติช่วง
แต่วันนี้เรื่องกีฬาเป็นแค่น้ำจิ้ม เพราะผมได้รับโจทย์ให้มาประกบคู่เรื่อง “การศึกษา” แถมเป็นมวย “คู่กัด” อภิมหาอมตะนิรันดร์กาลระหว่าง มหาวิทยาลัยรัฐบาล ชน มหาวิทยาลัยเอกชน ซะด้วย ซึ่งจริง ๆ ประเด็นนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และไม่อยากมีใครออกมา “ฟันธง” เนื่องจากมันสุ่มเสี่ยงต่อการถูกด่า จนถึงขั้นถูกเลิกจ้างไปเลย กูรูการศึกษาไม่ต่ำกว่า 4 คนที่ผมเข้าไปขอทรรศนะ ต่างออกตัวไม่ยอมเปิดเผยชื่อ แต่ก็ยังดีที่ยังเปิดเผยข้อมูลและแชร์ประสบการณ์กันมา
“ม.รัฐหรือเอกชน เลือกเรียนที่ไหนดี” ถ้าจะตอบกันแบบชาวบ้าน ๆ ก็ย่อมจะต้องชี้ไปที่สถาบันเก่าแก่อย่างจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ มหิดล ศิลปากร ศรีนครินทรวิโรฒ แต่ถ้าคนรุ่นกลางเก่ากลางใหม่หน่อยก็มักจะตอบว่า “แล้วแต่ชอบ” ส่วนคนรุ่นใหม่เลย อันนี้ผมเคยถามเอง ได้รับคำตอบว่า “แล้วแต่ตูสิ”
เมื่อเรื่องมันเป็นซะอย่างนี้ มันก็เลยเกิดคำถามมาตลอดว่า แล้วที่ไหนมันดีกว่า ซึ่งถ้าจะให้ผม
ตอบ ผมก็จะบอกว่า “แล้วแต่แกสิ” ก่อนจะมีคำอธิบายตามมา เพราะกลัวโดนเด็กมันตื๊บเอาว่า ที่แล้วแต่เพราะความถนัดของคนเรามีแตกต่าง ถ้าเราชอบพวกแอนิเมชั่น จะไปเรียนสถาบันรัฐรับรองอนาคตมืด เพราะเอกชนเขาทุ่มซื้ออุปกรณ์ระดับฮอลลีวูดมาใช้กันแล้ว เช่นม.รังสิต เป็นต้น หรือถ้าจะไปเรียนด้านการวิจัย ก็คงต้องเลือกฝ่ายรัฐบาลเพราะเขามีงบประมาณจากรัฐบาลมากกว่า แล้วถ้าชอบแบบประหยัดดีมีคุณภาพน่าเชื่อถือพอสมควรก็ต้องสถาบันเปิดทั้งราม คำแหง หรือสุโขทัยธรรมาธิราช
อันที่จริงหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ประเมินคุณภาพการศึกษาของสถาบันการศึกษาก็คือ "สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา"หรือ สมศ. ก็ยังคงทำหน้าที่อยู่และมีการประเมินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลออกมาครั้งล่าสุด สถาบันเอกชนก็มีคะแนนแซงหน้าสถาบันของรัฐเช่น ผลการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสองพบข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ในหลายมาตรฐานมหาวิทยาลัยเอกชนได้รับคะแนนสูงกว่ามหาวิทยาลัย ของรัฐ และมีคะแนนอยู่ในระดับดีมาก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเน้นผลิตบัณฑิตและวิจัย ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครได้รับคะแนนสูงสุดใน 11 มหาวิทยาลัยที่ผ่านการประเมินระดับดีมาก หรือในกลุ่มเน้นการผลิตบัณฑิตและพัฒนาศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยภาคกลางก็ได้รับคะแนน สูงสุดจากการประเมินด้านการจัดการเรียนการสอน
เช่นเดียวกับผลการประเมินสถาบัน อุดมศึกษากลุ่มเน้นผลิตบัณฑิต มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งเดียวที่ได้รับการประเมินระดับดีมาก รวมถึงในระดับกลุ่มสาขาวิชา มหาวิทยาลัยรังสิตก็ได้รับการประเมินได้ระดับดีมากหลายสาขา คือวิศวกรรมศาสตร์, สถาปัตยกรรมศาสตร์, มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าคุณภาพการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยเอกชนไม่ได้ด้อย กว่ามหาวิทยาลัยของรัฐในยุคนี้
จากข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ รวมกับข้อมูลจากกูรูด้านการศึกษา ขอกลั่นออกมาเป็นข้อมูลอ่านกันง่าย ๆ ให้เป็นเข็มทิศนำทาง แต่ไม่ว่าจะรัฐหรือเอกชน หากเราหา “เป้าหมาย” เจอ จงพุ่งชนมันให้คว่ำไปเลย...
เปรียบเทียบ มหาวิทยาลัยเอกชน vsมหาวิทยาลัยรัฐบาล
เรื่อง | ม.เอกชน | ม.รัฐบาล |
อาจารย์และการสอน | 4 ดาว | 4 ดาว |
บรรยากาศ สภาพแวดล้อม | 5 ดาว | 4 ดาว |
ความทันสมัยและเพียงพอของเครื่องมือ อุปกรณ์ประกอบการเรียน | 5 ดาว | 4ดาวครึ่ง |
ความทันสมัยของหลักสูตร | 5ดาว | 4ดาวครึ่ง |
การสนับสนุนกิจกรรมและการบริการผู้เรียน | 4ดาวครึ่ง | 4ดาว |
ทุนการศึกษา | 4ดาวครึ่ง | 4ดาว |
ความคุ้มค่าในการเรียน | 4ดาว | 4ดาว |
ผลงานวิจัย | 3ดาวครึ่ง | 4ดาว |
ความเชื่อมั่นของผู้เรียน | 3 ดาว | 4 ดาว |
ชื่อเสียงและการยอมรับ | 3 ดาว | 4ดาว |