ศธ.เร่งทำข้อมูลปรับฐานเงิน 1.5 หมื่นครูเอกชนยังไม่ชัดเจนใครจ่าย

           ดร.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงการปรับฐานเงินเดือน 15,000 บาทในส่วนของศธ.ว่าศธ.มีครูและบุคลากรในสังกัดแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มข้าราชการและกลุ่มที่ขึ้นกับเอกชน โดยในกลุ่มของข้าราชการยังแบ่งเป็นอีก 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่กำลังจะเข้ามาทำงาน ซึ่งแต่ละปีจะมีประมาณ 10,000 คน โดยผู้ที่จบปริญญาตรีได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณา 2 แบบ คือเข้ามาเป็นข้าราชการใหม่รับเงินเดือน 15,000 บาทเลยทันที หรือจ่ายขั้นต่ำ 13,000 บาท บวกกับเงินเพิ่มพิเศษแต่รวมแล้วได้ 15,000 บาท ส่วนปีหน้าจึงปรับเป็นฐาน 15,000 บาททั้งหมด ส่วนอีกกลุ่มทำงานกันอยู่แล้วแต่ ข้อมูลที่มีขณะนี้ยังไม่ครบมีเพียงข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้น พื้นฐาน (สพฐ.)ที่สามารถแยกย่อยออกไปได้อีกหลายกลุ่ม คือ กลุ่มที่จบปริญญาตรี เรียน 4 ปี มี  45,000 คน กลุ่มเรียนปริญญาตรี 5 ปี มี 9,800 คน กลุ่มปริญญาโท  7,600 คนและกลุ่มปริญญาเอก 26 คน รวมทั้งหมด 63,000 คนดังนั้นจึงยังต้องรอข้อมูลจากหน่วยงานอื่น ๆ อีก ได้แก่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สถาบันการพลศึกษาวิทยาลัยชุมชน และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ โดยตนจะนัดประชุมติดตามข้อมูลในสัปดาห์หน้าและจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ ทั้งหมดภายในเดือนกุมภาพันธ์หากล่าช้าไปกว่านี้จะส่งผลกระทบต่อการปรับขึ้น เงินเดือน ซึ่งปกติม.ค.จะได้รับการพิจารณาปรับเงินเดือนกันแล้ว

          ดร.ศศิธารา กล่าวต่อไปว่าอย่างไรก็ตามการพิจารณาเกี่ยวกับเงินเดือนต้องผ่านการพิจารณา ของอ.ก.ค.ศ.วิสามัญเกี่ยวกับการพัฒนานโยบายและการบริหารงานบุคคล  รวมถึงคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ก่อนดังนั้นจะต้องมีการเตรียมข้อมูลต่าง ๆ ไว้ให้พร้อมรวมทั้งจะมีการหยิบยกเรื่องการเลื่อนไหลอัตราเงินเดือนของข้า ราชการชำนาญการหรือเทียบเท่าระดับ ค.ศ.2 ให้ ก.ค.ศ.ได้พิจารณาด้วยเพราะจากข้อมูลพบว่าข้าราชการกลุ่มนี้เฉพาะที่อยู่ใน สังกัด สพฐ.มีมากถึง 250,000 คนซึ่งส่วนใหญ่เงินเดือนเต็มเพดานแล้ว

          "สำหรับบุคลากรที่ขึ้นกับเอกชนมีประมาณ 65,000 คนปกติจะได้รับเงินเดือนจากโรงเรียนเอกชนส่วนหนึ่งและผ่านเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้อีกส่วนหนึ่งแต่จุดนี้ยังไม่มีความชัดเจนจากรัฐบาลว่าจะเป็นผู้สนับสนุนเงินส่วนต่างเองทั้งหมดหรือจะให้ทางโรงเรียนมีส่วนร่วมด้วย ซึ่งจะเสนอให้คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) พิจารณาในวันที่ 6 ก.พ.นี้.