สทศ. ลุยรื้อสอบตรง 'แบ่ง7กลุ่มอาชีพ'

สทศ. ลุยรื้อสอบตรง 'แบ่ง7กลุ่มอาชีพ' ให้รับหลักสูตรใหม่ สพฐ.เล็งปรับโอเน็ต

          "สทศ." พร้อมปรับระบบสอบตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์ เป็น 7 กลุ่มอาชีพให้สอดรับกับหลักสูตรใหม่ของสพฐ. ระบุอาจต้องปรับระบบสอบO-NET พ่วงตามไปด้วย อดีตประธาน ทปอ.เบรกรื้อสอบตรงชี้เพิ่งจัดสอบเป็นปีแรก ต้องดูผลประเมิน การนำไปใช้ตรงเป้าหมายหรือไม่ เผยยังไม่มีรูปแบบที่จะดำเนินการได้
          จากกรณีที่นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.ศึกษาธิการ มีแนวคิดที่จะปรับระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อสถาบันอุดมศึกษา ในระบบรับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์ โดยจะปรับจากการสอบวิชาสามัญ 7 วิชา เป็นการสอบ 7 กลุ่มอาชีพเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสูตรมัธยมเชิงปฏิบัติการ 7 กลุ่มอาชีพที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ และยังเป็นการช่วยให้เด็กไม่ต้องวิ่งรอกสอบ อีกทั้งยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้แก่นักเรียน และผู้ปกครองด้วยนั้น
          เมื่อวันที่ 8 ม.ค.55 นายสัมพันธ์พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) กล่าวว่า การจะปรับเรื่องใดก็ตามคงต้องดูทั้งระบบ โดยที่ผ่านมาการวัดและการประเมินผลนักเรียน ได้ยึดตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดังนั้นหากจะมีการปรับหลักสูตรเดิมให้เป็นหลักสูตรมัธยมเชิงปฏิบัติการฯ ก็คงต้องมีการปรับระบบการสอบใหม่ด้วย ซึ่งคงไม่ใช่เพียงแต่ปรับการสอบวิชาสามัญ 7 กลุ่มอาชีพเท่านั้น แต่การสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ก็คงต้องมีการปรับรูปแบบการสอบด้วยเช่นกัน ทั้งนี้รูปแบบใหม่จะเป็นอย่างไรนั้นคงต้องรอดูโครงสร้างหลักสูตรใหม่ที่จะ เกิดขึ้นก่อนจากนั้นจะมีการหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป
          "การสอบวิชาสามัญ 7 วิชา เป็นการทดสอบที่สอดคล้องกับหลักสูตรที่ใช้ในปัจจุบันเพราะฉะนั้นก็ยังถือว่า เป็นการสอบที่เหมาะสม และยังช่วยไม่ให้เด็กต้อง วิ่งรอกสอบ รวมทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายด้วย แต่เมื่อเปลี่ยนหลักสูตรใหม่
          การวัดและประเมินผลก็ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย แต่ทั้งนี้การจะเปลี่ยนอะไรก็ควรต้องมีการแจ้งล่วงหน้าให้เด็กได้ทราบและ เตรียมตัวก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะต้องดำเนินการเป็นขั้นตอน และประกาศให้เด็กได้ทราบว่าจะเริ่มใช้หลักสูตรใหม่เมื่อใดและการสอบรับตรง รูปแบบใหม่จะเกิดขึ้นเมื่อใดด้วย"
          ผอ.สทศ. กล่าวและว่า สำหรับการออกข้อสอบ 7 กลุ่มอาชีพ ที่ รมว.ศึกษาธิการ จะมอบให้สภาคณบดีแต่ละสาขาเป็นผู้ออกข้อสอบนั้น เรื่องนี้คงดำเนินการเหมือนการออกข้อสอบทั่วไป โดยสทศ.จะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องข้อสอบเพียงแต่เชิญผู้แทนจากสภาคณบดีเข้ามา ร่วมพิจารณา และออกข้อสอบร่วมกันอย่างไรก็ตามสำหรับการจัดสอบวิชาสามัญ 7 วิชา เพื่อนำคะแนนไปใช้ในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อสถาบันอุดมศึกษาในระบบรับ ตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์ ประจำปีการศึกษา 2555 ที่จัดสอบพร้อมกันทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 7-8 ม.ค.นั้น ในภาพรวมยังคงเรียบร้อยดี โดยขณะนี้ยังไม่มีรายงานการทุจริตเข้ามาส่วนการขาดสอบเท่าที่ได้รับรายงาน เบื้องต้น พบว่าขาดเพียง 10% เท่านั้น
          นายประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.)ในฐานะอดีตประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า การสอบวิชาสามัญ 7 วิชา เพิ่งจะเริ่มสอบในปี 2555 เป็นปีแรก โดยมีผู้เข้าสอบไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนคน ดังนั้น ทปอ.คงต้องศึกษาวิเคราะห์ถึงประโยชน์ของ 7 วิชาสามัญ รวมถึงรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงาน ที่นำคะแนน 7 วิชาสามัญไปใช้ก่อน อาทิ กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) สภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทยที่ประชุมคณบดีวิทยาศาสตร์แห่ง ประเทศไทยเป็นต้น ว่าสามารถคัดเด็กได้ตรงตามความถนัดหรือศักยภาพหรือไม่เพราะก่อนหน้านี้พบ ปัญหาว่าการคัดเด็กเข้าไปเรียนในสาขาวิชาต่างๆ โดยเฉพาะคณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ พบปัญหาว่าได้เด็กไม่ตรงตามความถนัดอาทิ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าเด็กที่เข้าไปเรียนในชั้นปีที่ 1 สอบตกถึง 90%
          "หากพบว่าผลการศึกษาวิเคราะห์7 วิชาสามัญ สามารถคัดเด็กเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยได้ตรงตามศักยภาพของเด็กทปอ.ก็ควรต้อง ใช้ 7 วิชาสามัญในการคัดระบบรับตรงต่อไปอีก อย่างน้อย 2 ปีเพราะ ทปอ.ยึดหลักการว่าการจะเปลี่ยนแปลงระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อใน สถาบันอุดมศึกษา ควรต้องประกาศให้นักเรียนโดยเฉพาะระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รับทราบล่วงหน้า 3 ปี เพื่อเตรียมตัว"
          นายประสาท กล่าวและว่า สำหรับนโยบายของนายวรวัจน์ ที่ต้องการให้จัดสอบ 7 กลุ่มอาชีพ แทนสอบ7 วิชาสามัญนั้น ต้องยอมรับว่า ขณะนี้ยังไม่มีรูปแบบที่จะดำเนินการได้ และไม่แน่ใจว่าจะสามารถใช้ได้ทันปีการศึกษา 2555 ตามที่ รมว.ศึกษาธิการ ต้องการหรือไม่เนื่องจากหลักสูตรมัธยมเชิงปฏิบัติการฯเป็นหลักสูตรใหม่ เมื่อสภาคณบดีต่างๆทำหลักสูตร 7 กลุ่มอาชีพเสร็จแล้ว ก็ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับครูก่อนเพราะถ้าครูผู้สอนไม่เข้าใจแล้ว ก็จะไม่สามารถไปสร้างกระบวนการเรียนการสอนแก่นักเรียนได้
         

ขอขอบคุณ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ