ขยายโครงการแพทย์ชนบท เพิ่มค่าปรับเป็น 1 ล้าน !

 UploadImage

      ที่ประชุม คสช.ขยายโครงการผลิตแพทย์เพื่อชนบทต่อ 5ปี แก้ขาดแคลนหมอใน รพ.ชุมชนเล็ก-กลาง ชู 4มาตรการจัดการหมอเบี้ยวทุน เพิ่มค่าปรับเป็นล้านบาท ยืดเวลาใช้ทุนจาก 3เป็น 6ปี ขยายสัดส่วน นศ.แพทย์เพื่อชนบทเป็นร้อยละ 50เตรียมส่งหนังสือให้ รมว.สธ. นำเสนอ ครม.
 

          เมื่อเวลา 09.30น. พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) โดยที่ประชุมได้รับทราบมติของคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติเกี่ยวกับ ข้อเสนอการแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในชนบท โดยการขยายโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมยืนยันร่างกฎหมายที่ค้างอยู่ในรัฐสภา 2ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .... และ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... จากการขาดแคลนกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศ โดยเฉพาะวิชาชีพแพทย์ ทั้งด้านปริมาณคุณภาพและการกระจายตัว ส่งผลให้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ในชนบททวีความรุนแรงมากขึ้น เห็นได้จากจำนวนแพทย์ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็กและกลาง จำนวน 790แห่ง ในเขตชนบททั่วประเทศ มีเพียง 4,787คน จากจำนวนแพทย์ที่ปฏิบัติงานในกระทรวงสาธารณสุขทั้งสิ้น 12,291คน และแพทย์ทั่วประเทศประมาณ 40,994คน เท่ากับว่าไทยมีแพทย์เพียงร้อยละ 12ที่ปฏิบัติงานในชนบทรองรับประชากรประมาณกว่าครึ่งประเทศ

         นพ.อำ พล จินดาวัฒนะ เลขาธิการ คสช. กล่าวว่า ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในชนบทยังเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ คณะรัฐมนตรีจึงได้อนุมัติโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท (CPIRD ) และโครงการผลิตแพทย์อื่นๆ โดย สธ.และสถาบันการศึกษาแพทย์ได้ร่วมดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2537จะสิ้นสุดโครงการในช่วงปี 2555-2556นี้ ในปี 2553มีข้อมูลจากการประเมินโครงการ CPIRD โดยสำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพถึงสัมฤทธิผลของโครงการ พบแพทย์ในโครงการ CPIRD มีระยะเวลาการใช้ทุนครบ 3ปี สูงกว่าแพทย์ในระดับปกติ ร้อยละ 81:67มีสัดส่วนการคงอยู่ในชนบทหลังชดใช้ทุนสูงกว่าแพทย์ในระบบปกติร้อยละ 25:10

         นพ.อำ พลกล่าวอีกว่า คณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติภายใต้ คสช. ได้พิจารณามาตรการเพื่อการธำรงรักษาแพทย์ไว้ในชนบท และได้มีมติเห็นชอบให้เสนอต่อ ครม.เพื่อพิจารณาการดำเนินการโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทใน 4แนวทาง คือ 1.ขยายโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทต่ออีก 5ปี (2557-2561) มีเป้าหมายให้ขยายสัดส่วนจำนวน นศ.แพทย์โครงการ เป็นร้อยละ 50ของ นศ.แพทย์ทั้งหมด 2.กำหนดเงื่อนไขในการทำสัญญาปฏิบัติงานชดใช้ทุนสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาของ โครงการฯ เพิ่มเป็นระยะเวลา 6ปี กรณีผิดสัญญาการปฏิบัติงานชดใช้ทุน ให้กำหนดอัตราค่าปรับเพิ่มเป็น 1ล้านบาท เงินค่าปรับที่เพิ่มขึ้นจากเดิมให้คืนกลับไปยังหน่วยบริการของ สธ. ต้นสังกัดของแพทย์ที่ผิดสัญญา 3.ให้มีการปรับปรุงสัญญาการปฏิบัติงานชดใช้ทุนภายหลังสำเร็จการศึกษาให้ ยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในพื้นที่ใกล้เคียงกันได้ 4.ทบทวนการสนับสนุนงบประมาณการผลิตแพทย์ของโครงการฯ โดยเสนอให้สนับสนุนงบประมาณไปยังจังหวัดที่เป็นเจ้าของทุน สร้างความผูกพันและการรับรู้เกี่ยวกับการให้ทุนการศึกษาระหว่างแพทย์ผู้รับ ทุนกับพื้นที่

          “ที่ประชุมเห็นว่า สธ.เป็นหน่วยงานหลักดำเนินโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทมาต่อเนื่อง นพ.มงคล ณ สงขลา ประธานคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ จึงทำหนังสือถึง รมว.สธ.เพื่อพิจารณาเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายข้างต้นต่อ ครม.ต่อไป” นพ.อำพลกล่าว