สกอ.ชะลอ 4 มหา'ลัย ผลิต 7 กลุ่มอาชีพ

สกอ.ชะลอ 4 มหา'ลัย ผลิต 7 กลุ่มอาชีพ
 
          รศ.นพ.กำจร   ตติยกวี  รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยผลการประชุมโครงการพัฒนาหลักสูตรมัธยมศึกษาเชิงปฏิบัติการใน 7 กลุ่มอาชีพเมื่อวันที่  5 มี.ค. ว่าที่ประชุมได้มีมติแบ่งกลุ่ม 8 มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการเป็น3 กลุ่ม


         โดยกลุ่มที่ 1 มหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินโครงการ ได้แก่ม.เกษตรศาสตร์ (มก.) ม.ธรรมศาสตร์ (มธ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และม.เทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ซึ่งที่ประชุมให้ชะลอโครงการออกไปโดยไม่มีกำหนด 

         กลุ่มที่ 2  มหาวิทยาลัยที่ดำเนินโครงการก้าวหน้าไปมากพอสมควร ได้แก่ ม.พะเยา (มพ.) และม.ราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) โดยมีการปรับหลักสูตรด้านกลุ่มอาหารและกลุ่มความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งที่ประชุมให้ดำเนินโครงการต่อไป และหาก มีสิ่งใดให้ทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ช่วยเหลือก็สามารถเสนอขอมาได้

         กลุ่มที่ 3 มหาวิทยาลัยที่มีการปรับหลักสูตรของตนเองอยู่แล้ว และยังมีความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่พัฒนาหลักสูตร ได้แก่ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ซึ่งมีการปรับหลักสูตรกลุ่มอุตสาหกรรม และความคิดสร้างสรรค์  ก็จะดำเนินโครงการต่อไปเช่นกัน ทั้งนี้ที่ประชุมยังเสนอว่าหากมีการปรับหลักสูตรและมีประโยชน์ก็ให้นำมาเผย แพร่ให้แก่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ ได้ดำเนินการด้วย
        
         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการพัฒนาหลักสูตรมัธยมศึกษาเชิงปฏิบัติการใน7 กลุ่มอาชีพ เป็นโครงการที่นายวรวัจน์  เอื้ออภิญญกุล อดีต รมว.ศึกษาธิการ ริเริ่มขึ้นโดยมุ่งเน้นการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำโดยการปรับหลักสูตรการ ศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เป็นหลักสูตรมัธยมเชิงปฏิบัติการใน 7 กลุ่มอาชีพ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรรม กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มบริหารจัดการและสังคม กลุ่มความคิดสร้างสรรค์ กลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต กลุ่มอาหาร และกลุ่มวิจัยนวัตกรรมและการถ่ายทอดองค์ความรู้.

          ขอขอบคุณเดลินิวส์ ฉบับวันที่ 7 มี.ค. 2555