ศธ.ผุดเดบิตการ์ดเรียนฟรี

UploadImage

          รมว.ศึกษาฯ เห็นพ้องสพฐ.ปรับระบบการจัดสรรเงินเรียนฟรี ผุด "เดบิตการ์ด" เรียนฟรี มอบ "ออมสิน"ดำเนินการ ครอบคลุมนักเรียน 7.8 ล้านคนสนนราคาใบละ 50-70 บาท เริ่มใช้ปีการศึกษา 55 ด้าน "สุชาติ" ย้ำไม่มีนโยบาย บริจาคเงินแลกที่เรียน ขณะที่ ม.1-ม.4-ปวช.ประกาศรับปีนี้ไม่เกิน40 คนต่อห้อง

          เมื่อวันที่ 24 ม.ค.55 นายชินภัทรภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้เสนอระบบการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัว ตามโครงการเรียนฟรีเรียนดี 15 ปีอย่างมีคุณภาพในส่วนของค่าชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนที่จัดสรรให้แก่ นักเรียนและผู้ปกครอง

          โดยใช้บัตรเติมเงิน ซึ่งมีลักษณะคล้าย"เดบิตการ์ด" แทนการจ่ายเป็นเงินสดต่อนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว. ศึกษาธิการเพื่อให้นำไปซื้อชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนตามวัตถุประสงค์ของโครงการอย่างแท้จริงซึ่งรมว.ศึกษาธิการคนใหม่ก็ให้ความเห็นชอบในหลักการ และจะเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2555 กับนักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ประมาณ 7.8 ล้านคน

          นายชินภัทร กล่าวต่อว่า จากการหารือเบื้องต้นกับธนาคารออมสินโดยทางธนาคารจะเป็นผู้รับผิดชอบในส่วน ของการจัดทำเดบิตการ์ด ราคาใบละ 50-70 บาทสำหรับการใช้บัตรนั้น ทางร้านค้า จะต้องเข้ามาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการกับสพฐ.และมีเครื่องที่สามารถรูดเดบิต การ์ดแบบออนไลน์ได้โดยมูลค่าเงินในบัตรจะมีอายุประมาณ 1 ปีการศึกษาส่วนข้อกังวลว่าจะปิดกั้นร้านค้าขนาดเล็กนั้นไม่น่าจะมีปัญหา ซึ่งสพฐ.จะจัดเวทีพูดคุยกับทางร้านค้าต่อไป

          ส่วนเรื่องการบริจาคเพื่อแลกกับการเข้าเรียนนั้น คงต้องรอฟังนโยบายจากรมว.ศึกษาธิการก่อน แต่ที่ผ่านมากพฐ.ได้เปิดโอกาสให้มีการขยายห้องเรียนพิเศษซึ่งหากมองในมุมของ การระดมทรัพยากรจุดนี้ก็ถือเป็นช่องทางเพราะทางโรงเรียนที่เปิดห้องเรียน พิเศษสามารถเก็บค่าธรรมเนียมที่สูงกว่าปกติได้อยู่แล้ว แต่ต้องเป็นไปตามระเบียบของสพฐ.และเป็นความสมัครใจของผู้ปกครองทั้งนี้ในวัน ที่13-14 ก.พ.55 จะเชิญโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงโรงเรียนที่มีวัตถุประสงค์พิเศษและ โรงเรียนที่เปิดสอนเฉพาะระดับ ม.ปลายมาชี้แจงในรายละเอียดเรื่องการรับนักเรียนอีกครั้ง

          นายสุชาติธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงเรื่องการรับนักเรียนเข้าเรียนในสถานศึกษา ว่าต้องแยกเรื่องการบริจาคกับการเข้าเรียนออกจากกันซึ่งถ้าหากผู้ปกครองยินดีบริจาคทางโรงเรียนก็สามารถรับได้ แต่ไม่ใช่เป็นการบริจาคเพื่อแลกที่นั่งเรียนซึ่งอยากให้ทุกคนคิดบวก เพราะถ้าเราไปห้ามโรงเรียนไม่ให้รับเงินบริจาคเลยโรงเรียนก็จะไม่มีเงินเพียงพอที่จะไปพัฒนาการศึกษาตลอดจนอุปกรณ์การเรียนการสอนเพราะงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้ยังมีไม่เพียงพอ ซึ่งต้องเข้าใจในจุดนี้ด้วยและตราบใดที่ไม่มีใครเอาเงินเข้ากระเป๋าตัวเองหรือคอร์รัปชั่นก็เป็นเรื่องที่สามารถทำได้

          ด้าน นายชัยพฤกษ์เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.)กล่าวถึงการรับนักเรียน นักศึกษาเข้าศึกษาในสถานศึกษาสังกัด สอศ. ปีการศึกษา 2555 ว่าได้ให้คณะกรรมการการอาชีวศึกษาจังหวัด ประสานแผนการรับนักเรียนนักศึกษากับสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั้งของรัฐ และเอกชนโดยการรับเด็กปีนี้ต้องรับไม่เกิน 40 คนต่อห้องเพื่อไม่ให้มีปัญหาในการฝึกปฏิบัติงานและการรับระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 25 พ.ค.55 เนื่อง จากที่ผ่านมาไม่มีการกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการรับทำให้สถานศึกษาของรัฐเปิด รับนักศึกษาปวส.ไปเรื่อยๆ ส่งผลให้สถานศึกษาอาชีวศึกษาของเอกชนได้รับผลกระทบ

          "การรับนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ในปีการศึกษา 2555 จะสอบคัดเลือกเด็กอาชีวศึกษาก่อนการสอบคัดเลือกเข้าเรียนต่อสายสามัญ หรือชั้น ม.4 ของสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ดังนั้น หากยังมีที่นั่งเหลือก็จะมีการเปิดรับรอบ 2 แต่ทั้งนี้ก็จะต้องไม่เกินห้องละ 40 คน"