จิตแพทย์แนะครู พ่อแม่ โรงเรียน รับมือเด็กเครียด

UploadImage

จิตแพทย์แนะครู พ่อแม่ โรงเรียน รับมือเด็กเครียด

          มหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ภาคกลางของประเทศ ส่งผลกระทบทำให้โรงเรียนทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑลต้องเลื่อนเปิดเทอมและทำการเรียนการสอนล่าช้าไปเป็นเวลากว่าหนึ่ง เดือน ขณะที่มาตรฐานการเรียนการสอนของแต่ละสถานศึกษาก็ยังคงถูกกำหนดด้วยระยะเวลา เรียนที่จะต้องเป็นไปตามกฎของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้โรงเรียนแต่ละแห่งจะต้องมีการปรับการเรียน การสอน มีการสอนชดเชย เพิ่มชั่วโมงเรียน หรือบางแห่งอาจมีการเรียนเพิ่มในวันหยุดเสาร์อาทิตย์

          จากสภาพการณ์ดังกล่าวนั้น เด็ก พ่อแม่ ครู และสถานศึกษา ควรจะต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อให้เด็กได้รับการเรียนรู้อย่างมีความสุข ในเรื่องนี้ พ.ญ.อังคณา อัญญมณี จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์ ให้ความเห็นว่า การเลื่อนการเปิดเทอมเป็นเวลานานนั้นทำให้บทเรียนต่างๆ ต้องอัดแน่นขึ้น ซึ่งแม้ว่าจะเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการสอนเพิ่มเติม เพราะด้วยความจำเป็นที่แต่ละโรงเรียนที่จะต้องสอนให้ครบตามเนื้อหาตามหลัก สูตร เพื่อรักษาคุณภาพ แต่การปรับการเรียนการสอนนั้นก็ควรจะต้องคำนึงถึงสภาพจิตใจของเด็กด้วย

          พ.ญ.อังคณา ระบุว่า ในช่วงเปิดเรียนแรกๆ เด็กบางส่วนจะรู้สึกขี้เกียจ เพราะว่ายิ่งหยุดนานก็จะต้องมีการปรับตัวมากขึ้น ดังนั้นในช่วงแรกๆ โรงเรียนควรให้เวลาปรับตัวสำหรับเด็กๆ ก่อนสัก 1-2 สัปดาห์ ไม่ใช่ว่าเปิดเทอมวันแรกก็เริ่มให้เด็กเรียนชดเชยไปจนถึง 6 โมงเย็น อาจทำให้เด็กเกิดความเบื่อหน่าย ไม่อยากเรียน และพากันโดดเรียนได้ เพราะฉะนั้นทางโรงเรียนต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจธรรมชาติของเด็ก และแจ้งให้เด็กทราบล่วงหน้าเพื่อจะได้เตรียมตัวและปรับตัวได้ รวมถึงการพูดคุยกับพ่อแม่ ซึ่งก็จะต้องมีการปรับเวลา ปรับการดำเนินชีวิตตามไปด้วย เช่น การรับส่ง หรือ การทำกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกับครอบครัว

          พ.ญ.อังคณา ให้ความเห็นได้อย่างน่าสนใจว่า การวางแผนการเรียนการสอนที่แน่นและเร่งจนเกินไปเพื่อให้ทันกับทุกเนื้อหา นั้น จะทำให้บรรยากาศการเรียนการสอนเครียดจนเกินไป และจะไม่ช่วยให้การเรียนรู้ดีขึ้น ดังนั้นการปรับตารางเรียนเพิ่ม คุณครูควรวางแผนการสอนในแต่ละวิชา โดยมีแนวทางดังนี้
 
1.คุณครูอาจจะคงเนื้อหาหลักไว้แต่ ควรลดงาน รายงาน หรืองานประดิษฐ์ลง จากปกติ 10 ชิ้น เทอมนี้อาจจะเหลือซัก 5-6 ชิ้น แต่ให้คะแนนรายชิ้นเพิ่มขึ้น ซึ่งครูต้องเข้าใจสภาพว่าเด็กจะมีเวลาในช่วงเย็น หรือวันหยุดน้อยลง เพราะต้องไปเรียนชดเชย หรือเด็กบางคนที่ต้องอาศัยตามศูนย์พักพิงหรือบ้านญาติก็อาจจะไม่พร้อมใน เรื่องของวัสดุอุปกรณ์
 
2.โดยปกติแล้วการเรียนที่อัดแน่นมาก เกินไปอาจจะทำให้เด็กที่ปรับตัวไม่ได้เกิดความเครียด วอกแวก ไม่มีสมาธิ และไม่มีความพร้อมในการเรียน ไม่ทำการบ้าน ไม่ตั้งใจเรียน ไม่ส่งงาน ซึ่งครูจะต้องทำความเข้าใจและให้การช่วยเหลือ มิฉะนั้นเด็กอาจจะเกิดการเบื่อหน่าย ดังนั้นครูจะต้องคอยสังเกตพฤติกรรมของเด็กว่าให้ความสนใจกระตือรือร้นในการ เรียนมากน้อยเท่าไร และไม่ควรสร้างบรรยากาศการเรียนการสอนให้เครียดจนเกินไป เช่น หากเด็กบางคนไม่ตั้งใจ คุณครูดุด่าหรือบ่น อาจทำให้เด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ตั้งใจเรียนที่เครียดอยู่แล้วยิ่งเครียดเข้าไป อีก 
 
3.คุณครูควรให้กำลังใจเด็กบ้าง อย่าไปเครียดจริงจังมากเกินไป พยายามให้เด็กเรียนแบบสบายๆ เพราะถ้าเครียดเกินไปก็ไม่ได้ประโยชน์เหมือนกัน ถ้าคุณครูเห็นว่าเด็กเครียดก็อาจมีกิจกรรมที่สร้างความสนุกสนาน ผ่อนคลายบ้าง เวลาพักก็ควรจะมี เช่น เรียนมา 3-4 ชั่วโมงก็ควรพักก่อนที่จะกลับเข้าไปเรียนต่อ ถ้าเรียนติดต่อกันไม่มีเวลาพัก เด็กก็จะหมดสมาธิ 

           ในส่วนของพ่อแม่และผู้ปกครองนั้น การปรับตัวก็จะสามารถช่วยเด็กได้มาก ซึ่ง พ.ญ.อังคณา ให้ข้อแนะนำในการปรับตัวและปรับทัศนคติที่จะมีส่วนช่วยลดความเครียดของเด็ก ได้ดังนี้ 

1.พ่อแม่ควรมีทัศนคติในเชิงบวกต่อ สถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะการปฏิบัติหรือปฏิกิริยาของผู้ปกครองจะมีผลช่วยทำให้ดีขึ้นหรือแย่ลง เพราะถ้าผู้ปกครองแสดงความคิดเห็นไปในทางลบหรือบ่นว่าทำไมต้องมีการเรียน เพิ่ม หรือมีท่าทีที่เครียดไปด้วย หรือไม่พร้อมที่จะรับสภาพ จะยิ่งทำให้เด็กมองภาวะนี้ในด้านลบไปด้วย ทำให้เด็กรู้สึกเบื่อหน่าย ท้อแท้ เด็กบางคนอาจจะทิ้งงานไปเลย คือไม่ทำแล้ว ไม่เรียนแล้ว อาจถึงขั้นโดดเรียนเลยก็ได้ แต่ในทางกลับกันถ้าหากผู้ปกครองมีท่าทีเป็นบวก เข้าใจความรู้สึกเด็ก เด็กก็จะมีการรับฟังที่ดี อาจจะมีการชี้แจงหรืออธิบายถึงเหตุและผลว่าการเรียนแบบนี้เด็กอาจจะต้อง เหนื่อย แต่ว่ามันเป็นความจำเป็นที่จะต้องเรียนให้ครบ เพราะว่าคุณครูอยากให้มีความรู้ หรือว่าอยากให้เรียนทันกับเพื่อนๆ โรงเรียนอื่น คงเหนื่อยไม่นาน อาจจะเป็นในช่วงสั้นๆ ถ้าเรียนตามบทเรียนครบ ทางโรงเรียนก็จะปรับเวลาเรียนตามปกติ
 
2.ควรให้การสนับสนุน เพราะจะเป็นส่วนสำคัญที่จะฝึกให้เด็กเผชิญกับปัญหา เป็นการฝึกทักษะ ต่อไปถ้าเด็กต้องเจอปัญหาเค้าก็จะเผชิญได้ง่ายขึ้นด้วย ถือว่าเป็นโอกาสอย่างหนึ่งในวิกฤติ 
 
3.พ่อแม่จะต้องให้กำลังใจ ให้รางวัลเด็ก เช่น วันจันทร์-ศุกร์ ทางโรงเรียนมีการเรียนเพิ่ม เด็กจะมีเวลาเล่นน้อยลง ตรงนี้พ่อแม่อาจจะให้กำลังใจเพิ่มว่าเดี๋ยววันอาทิตย์นี้เราไปหาอะไรอร่อยๆ กินกัน หรือว่าวันอาทิตย์นี้อยากดูหนังเรื่องอะไรก็พาไปดู คือหาเวลาชดเชย ให้เป็นเวลาของครอบครัวที่เด็กจะมีความสุข ให้เค้าผ่อนคลายมากขึ้น ตรงนี้ก็จะช่วยได้ 
 
4.พิจารณาสิ่งที่จำเป็นให้กับลูก เช่น เด็กที่เรียนพิเศษอยู่แล้ว อีกทั้งยังเรียนดนตรี เล่นกีฬา คือบางอย่างที่มันไม่จำเป็น พ่อแม่ก็อาจจะต้องตัดออกไปก่อนในเทอมนี้ พอเทอมหน้าลูกมีเวลาเรียนมากขึ้นค่อยกลับไปเรียนอีกทีก็ได้ จะได้ไม่รู้สึกว่าทุกอย่างมันแน่นไปหมดเลย 
 
5.นอกจากนี้ต้องเตรียมพร้อม ทำความเข้าใจกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นแล้วก็ยอมรับ เหมือนกับจะช่วยลูกว่าจะต้องเผชิญกับมันยังไง กิจวัตรก็ต้องเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่ลูก พ่อแม่ต้องจัดเวลาใหม่เหมือนกัน พอเลิกงานแล้วต้องรับลูกที่ไหน ดังนั้นพ่อแม่ก็จะต้องวางแผนด้วย
 

          ทั้งนี้หากผู้บริหารโรงเรียน คุณครู ผู้ปกครอง และเด็ก ต้องการคำปรึกษาในการจัดการปัญหาความเครียดหลังเปิดเทอม ทางโรงพยาบาลมนารมย์ยังคงมีบริการสายด่วน 0-2725-9555 ภายใต้โครงการ "มนารมย์ ร่วมใจช่วยภัยน้ำท่วม" ท่านสามารถโทรศัพท์ไปขอคำปรึกษาและความรู้ต่างๆ ได้ ทางโรงพยาบาลจะมีทีมจิตแพทย์และนักจิตวิทยาคอยให้บริการโดยไม่เสียค่าใช้ จ่าย หรือสามารถเปิดดูข้อมูลหาความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจิตที่ดีได้ที่ www.manarom.com



ขอบคุณหนังสือพิมพ์บ้านเมือง
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต