ชี้ถึงเวลามีกระทรวงอุดมศึกษาและวิจัย

          ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.)ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวถึงกรณีที่นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) ไม่ สนับสนุนให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) แยกออกจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ทปอ.ไม่ติดใจว่า สกอ.จะแยกออกจาก ศธ.หรือไม่ แต่ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาการรวมอยู่กับ ศธ.ทำให้การทำงานล่าช้ามาก ตนจึงอยากให้รัฐบาล และผู้บริหารศธ.เข้าใจถึงบทบาทที่แท้จริงของมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งให้การสนับสนุน อำนวยความสะดวก และให้อิสระทางวิชาการ
          ดร.สุเมธ แย้มนุ่น อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า ตนเห็นว่า สก อ.จะต้องแยกออกจาก ศธ.ได้แล้ว เพราะการบริหารงานแตกต่างกันมาก โดยมหาวิทยาลัยเป็นแหล่งรวมปัญญาของประเทศที่สามารถคิดเองได้ หากให้มหาวิทยาลัยมีอิสระในการแสวงหาความเป็นเลิศตามศักยภาพของแต่ละแห่งก็ จะทำประโยชน์ให้ประเทศชาติได้อีกมาก ซึ่งการแยกออกมาก็ควรเป็นกระทรวงใหม่ เพราะในหลายประเทศจะแยกอุดมศึกษาออกจากกระทรวงศึกษาธิการ โดยนำอุดมศึกษาไปรวมกับหน่วยงานงานวิจัยโดยเฉพาะ และเน้นพัฒนามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมุ่งสู่ความเป็นเลิศตามศักยภาพ
          นายประเสริฐ บุญเรือง เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กล่าวว่า แม้นายวรวัจน์จะไม่มีนโยบายปรับโครงสร้าง ศธ.ใหม่ แต่ผู้บริหารสำนักงาน กศน. ทั้งส่วนกลาง จังหวัด และอำเภอทั่วประเทศ ต่างเห็นตรงกันว่าจะเสนอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาตลอดชีวิต ต่อคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายของ ศธ. ที่มีนายโสภณ เพชรสว่าง ที่ปรึกษา รมว.ศธ. เป็นประธาน เพื่อยืนยันว่า กศน.มีความต้องการ พ.ร.บ.การศึกษาตลอดชีวิต เพื่อบริหารจัดการการศึกษาตลอดชีวิตให้สามารถรองรับการเป็นสังคมแห่งการ เรียนรู้ได้อย่างแท้จริง โดยในร่างพ.ร.บ. ได้ระบุให้มีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาตลอดชีวิต (กศช.) อยู่ใน ศธ. มีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็นกรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน โดยให้มีเลขาธิการ กศช.เป็นหัวหน้าส่วนราชการขึ้นตรงต่อ รมว.ศธ.
          นางศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กล่าวว่า ในส่วนของสำนักงาน ก.ค.ศ.ได้เสนอให้คณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายของ ศธ. พิจารณาเรื่องตกค้างเดิมที่ ก.ค.ศ. กศน. และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เคยขอเป็นกรม และมีฐานะเป็นนิติบุคคล เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงาน และเพื่อให้ข้าราชการสามารถเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้
          ด้านนายชาญวิทย์ ทับสุพรรณ เลขา ธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าวว่า สช. ได้เสนอให้คณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายของ ศธ. พิจารณาให้ สช. เป็นกรม มีฐานะเป็นนิติบุคคล และให้คณะกรรมการ สช. ในระดับจังหวัดสามารถบริหารงานบุคคลได้โดยไม่ผูกติดกับเขตพื้นที่การศึกษา และมีกฎหมายรองรับด้วย.
 
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์