คณะเภสัช มช. แนะวิธีใช้ยาในภาวะน้ำท่วม


UploadImage
คณะเภสัช มช. แนะวิธีใช้ยาในภาวะน้ำท่วม

            ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ เป็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญที่เกิดขึ้นในภาวะน้ำท่วม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความห่วงใยต่อผู้ประสบภัยที่อาจมีอาการเจ็บป่วย จึงมีข้อแนะนำในการใช้ยา เพื่อการดูแลตนเองเบื้องต้นอย่างถูกวิธี

            รองศาสตราจารย์ ภญ.วรรณดี แต้โสตถิกุล คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ กล่าวว่า "ปัญหาความเจ็บป่วย ที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วม อาจมีหลายโรค เช่น น้ำกัดเท้า ตาแดง ท้องร่วง รวมถึงโรคที่มียุงเป็นพาหะนำโรค ซึ่งการรักษาอาจไม่สะดวก ทั้งการซื้อยาด้วยตนเอง หรือการไปรับการรักษาในโรงพยาบาล จึงมีผู้บริจาคยาเพื่อผู้ประสบภัย ผู้ประสบอุทกภัยอาจไม่มีข้อมูลเพียงพอว่า มีวิธีใช้ที่ถูกต้องอย่างไร ควรซื้อยาอะไร ดังนั้น การใช้ยา การเลือกซื้อยา การแนะนำการใช้ยาต่อผู้ป่วย หรือความเข้าใจของอาสาสมัครช่วยน้ำท่วม จึงมีความจำเป็น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและเกิดประสิทธิภาพในการรักษา"

            รศ.ดร.ภญ.พาณี ศิริสะอาด อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม  คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับยาและการใช้ยาแต่ละประเภทไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

             ยารักษาน้ำกัดเท้า ยากลุ่มนี้มีหลายประเภท เป็นครีม ขี้ผึ้ง หรือเป็นชนิดน้ำก็ได้ ขึ้นกับการนำตัวยาไปปรุงแต่งเป็นแบบใด ประเภทตัวยาได้แก่ ตัวยาดั้งเดิมเป็นกรดซาลิไซลิค และกรดเบนโซอิค ทั้งสองชนิดเป็นกรดอ่อน การใช้ในผู้เป็นแผล จะไม่เกิดอันตรายใดๆ จะช่วยแก้คันด้วย นิยมทำเป็นยาขี้ผึ้ง รูปแบบนี้จะช่วยทำให้ยาอยู่กับผิวได้นาน ไม่ละลายน้ำออกไป อีกทั้งมีราคาถูก ส่วนตัวยาอื่น ก็จะมีกลุ่มตัวยาที่พัฒนาขึ้นมา จะไม่ให้ระคายเคืองเวลาสัมผัสมากเท่ากรดอ่อน ซึ่งก็จะแตกต่างกันในแง่ระยะเวลาในการทา ตัวยารุ่นใหม่ มักพัฒนาให้มีการออกฤทธิ์นานขึ้นและแรงขึ้น มีการทาน้อยครั้งลง  แต่กลุ่มยาทั้งหมดนี้ การใช้ควรใช้เป็นเวลาอย่างน้อย สาม ถึงสี่สัปดาห์ เพื่อให้แน่ใจว่าหายขาดแล้ว อาจมีบางชนิดจะใช้แค่สองสัปดาห์ เพราะฤทธิ์ยาอยู่ได้นาน ส่วนใหญ่ยาใหม่ๆ ดังกล่าวมา ก็จะมีราคาแพงขึ้น เนื่องจากเป็นต้นตำรับในการค้นคว้าวิจัย

             ผลิตภัณฑ์ป้องกันยุง มีหลายแบบที่พบในร้านยา เช่นเป็นชนิดน้ำ หรือโลชัน ชนิดแป้ง ชนิดครีม ชนิดสเปรย์ หรือเป็นผ้าเย็น หรือเป็นขดจุดไล่ยุง สรรพคุณใช้ไล่ยุง ซึ่งมีระยะเวลาของการออกฤทธิ์ขึ้นกับชนิดของสารที่ใช้ หากออกฤทธิ์นานหลายชั่วโมง ก็ไม่จำเป็นต้องใช้บ่อย ข้อควรระวังในการใช้ เนื่องจากเป็นวัตถุอันตราย การใช้ควรใช้จำกัดบริเวณ เช่นทา เป็นที่ๆไป บริเวณแขน ขา เว้นระยะห่าง ไม่จำเป็นต้องทาทั้งตัว ส่วนใบหน้า ต้นคอ ก็ควรเว้นเพราะอาจทำให้ระคายได้

             ยาบรรเทาอาการคัน เช่น ยาหม่อง  ซึ่งประกอบด้วย น้ำมันระกำ การบูร น้ำมันยูคาลิบตัส และน้ำมันเปปเปอร์มิ้นท์ เป็นยาที่ช่วยให้สารระคายที่เข้าสู่ผิว  กระจาย มีเลือดมาเลี้ยง เพราะความร้อนของตัวยา แล้วสารระคาย จะถูกขบวนการภายในร่างกายนำไปทำลาย และลดอาการไม่สบายไป ดังนั้น ระดับความร้อนแรง ของยาจะแตกต่างกัน หากไม่ร้อนมาก ก็มักจะนำมาใช้ดม หรือทาขมับ วิธีใช้ทาแก้อาการคัน หรือระคายเคือง โดยทาบางๆ เฉพาะที่เป็นตามต้องการ แต่หากมีอาการบวม ไม่ควรใช้ในระยะแรก เพราะจะทำให้บวมมากขึ้น หากบวมควรใช้ผ้าเย็นหรือผ้าห่อน้ำแข็งประคบก่อน

             ยาแก้คัน มีหลายประเภท อาจเป็น คาลาไมน์ เป็นยาชนิดน้ำ หรือเป็นครีมกลุ่มสเตียรอยด์ ซึ่งจะลดอาการอักเสบหรือแพ้ของผิวหนัง

             ยาแก้แพ้ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสเตียรอยด์ ซึ่งแบ่งเป็นระดับความแรงเป็น ระดับเบื้องต้น ปานกลางและสูงสุด ยาแก้แพ้กลุ่มนี้ใช้ได้ดี โดยเฉพาะกรณีอาการผิวหนังอักเสบ วิธีใช้ยาจึงต้องเลือกตามความรุนแรงของอาการทางผิวหนัง และขึ้นกับตำแหน่งที่จะทา หากผิวหนังบริเวณใบหน้า เราควรใช้ตัวยาที่อ่อนก่อน อย่างไรก็ดีในทุกกรณี เราต้องเริ่มต้นด้วยตัวยาที่อ่อนก่อน เว้นแต่บางกรณีเช่นเรื้อนกวาง จึงจะเลือกใช้ตัวยาที่แรง วิธีใช้ ควรทาบางๆ เช้าเย็น มีบางประเภท ใช้เพียงวันละครั้ง มีข้อระวังคือการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ทางผิวหนัง อาจทำให้เกิดผิวหนังบางได้ และหากเป็นเชื้อรา ใช้ยานี้ทา อาจทำให้โรคติดเชื้อราหายช้าและเป็นลุกลามมากขึ้น

             ยาบรรเทาอาการปวดศรีษะ เช่น พาราเซตามอล สำหรับผู้ใหญ่ใช้ยาเม็ด ขนาด 500 มก. ส่วนเด็กใช้ตามน้ำหนักตัว ยานี้เหมาะสำหรับกรณีไม่เป็นโรคตับ หากเป็นโรคตับ อาจเปลี่ยนเป็นยาชนิดอื่นแทน สรรพคุณ แก้ปวดและลดไข้ แต่ไม่ได้ใช้แก้อักเสบอย่างเช่นการแก้อาการบวม แดง หรือร้อน ยาเม็ดพาราเซตามอลไม่ควรรับประทานมากเกินแปดเม็ดต่อวัน หรือนานเกิน สามถึงห้าวัน หากมีอาการอื่นแทรกควรพบแพทย์

             ยาบรรเทาอาการปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ อาจใช้ยาหม่องทานวดแก้ปวดเมื่อย แต่หากจำเป็นต้องใช้ยา อาจใช้ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ซึ่งมีคุณสมบัติบรรเทาปวด ลดการอักเสบและลดไข้ แต่ข้อควรระวังคือ ยากลุ่มนี้ควรรับประทานหลังอาหารทันที และดื่มน้ำมากๆ หากเป็นโรคไต ไม่ควรรับประทาน

             ยาแก้ท้องร่วง ควรสังเกตว่าท้องร่วงนั้นติดเชื้อหรือไม่ ลักษณะอุจจาระเป็นอย่างไร เป็นน้ำหรือถ่ายเหลวเพื่อพิจารณาการใช้ยาได้ถูกต้อง หากถ่ายเหลวบ่อย ในระยะแรกควรใช้ผงเกลือแร่ขององค์การเภสัชกรรม ละลายน้ำดื่มช้าๆทีละน้อย ไม่ควรดื่มทีเดียวจนหมด มิฉะนั้นอาจทำให้ถ่ายเหลวมากขึ้น เนื่องจากความเค็มที่เข้าร่างกายทีเดียวมากๆจะดูดน้ำในลำไส้ ทำให้เกิดอาการดังกล่าว สรรพคุณจะช่วยให้ร่างกายได้รับเกลือแร่ที่สูญเสียไป การใช้มากน้อยขึ้นกับอาการท้องเสีย อาจใช้วันละ สอง ถึงสามครั้ง ข้อระวังสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคไตและโรคหัวใจ อาจพิจารณาโดยแพทย์ นอกจากนั้นการให้ยาเพื่อหยุดถ่าย อาจต้องใช้ตามความจำเป็น เพื่อไม่ให้ลำไส้หยุดทำงานโดยไม่จำเป็น ยาที่อาจใช้กรณีอาหารเป็นพิษ คือพวกยาเม็ดถ่าน จะช่วยดูดซับสารพิษได้ กรณีที่ไม่ได้ติดเชื้อไม่ควรใช้ยาฆ่าเชื้อโดยไม่จำเป็น

             ยาใส่แผล  การทำความสะอาดแผล  ก่อนอื่นต้องล้างแผลให้สะอาด อาจใช้น้ำสบู่เหลว หรือน้ำธรรมดา เพื่อขจัดสิ่งสกปรก ใช้แอลกอฮอล์เช็ดรอบแผล ก่อนทายาฆ่าเชื้อ หากแผลเปิดหากแผลปิดหรือถลอกเพียงเล็กน้อย อาจทาครีมกรณีป้องกันไม่ให้ผิวหนังระคายเคือง กรณีการทายาฆ่าเชื้อ อาจใช้ยากลุ่มไอโอดีน หรือเบตาดีน หรือหากต้องการป้องกันการติดเชื้ออาจใช้ยาครีมประเภทที่ผสมยาฆ่าเชื้อ โดยทาแผลเช้า เย็น หากล้างแผลบ่อยหรือลงน้ำก็ต้องทาซ้ำ

            กลุ่มยาที่กล่าวมา เป็นกลุ่มยาแผนปัจจุบัน  ซึ่งในบางกลุ่ม จะมีตัวยาที่ต้องควบคุมในการใช้ เช่น กลุ่มที่มีสเตียรอยด์ หรือกลุ่มยาแก้อักเสบ กลุ่มยาปฏิชีวนะ ดังนั้น การซื้อยา ควรศึกษาให้ดี และปรึกษาเภสัชกร ก่อน ส่วนการเก็บรักษายาระหว่างน้ำท่วม มีข้อแนะนำว่าควรเก็บยาให้พ้นน้ำ ไม่ให้ชื้น หลังใช้ควรปิดให้สนิท และทำตามข้อคำแนะนำจากฉลากยา

            นอกจากนี้ยังมีกลุ่มยาแผนโบราณที่จะเป็นยาเสริมได้ เช่น ยาดม ยาหอม ยาบำรุงหัวใจ กลุ่มนี้เป็นยาเสริม ทำให้จิตใจดี ชื่นใจ ลดอาการวิงเวียน หรือผะอืดผะอม  วิธีใช้ยาหอมชนิดผง อาจนำผงยาละลายน้ำอุ่น เพื่อเสริมให้น้ำมันหอมระเหย ส่งกลิ่นหอมซึ่งจะดูดซึมได้ การรับประทาน อาจใช้มะนาวหั่นซีกเล็ก จิ้มผงยาและเกลืออมแก้อาการคลื่นเหียน อาเจียนหรือไม่สบาย การรับประทานอาจใช้ครั้งละประมาณ หนึ่งช้อนกาแฟ เช้าเย็น

            สำหรับสมุนไพรที่รักษาอาการเท้าเปื่อย  ก็จะมี 2 กลุ่มคือ กลุ่มแบบโบราณ ของหมอพื้นบ้าน และกลุ่มสมุนไพรสาธารณสุขมูลฐาน

             สมุนไพรของหมอพื้นบ้าน ก็อาจปรับใช้ตามสมุนไพรที่มีในท้องถิ่น ซึ่งมีหลายตำรับ เช่น ที่อำเภอเวียงแก่น จ.เชียงราย  ก็จะใช้ไม้ห้าเนื้อ หรือ ไทยกลาง เรียก กระจับนก (Euodnymus sp.) ใช้เปลือกลำต้น ทุบทาแช่น้ำแก้แผล หอ (น้ำกัดเท้า) ใช้ราก ฝนใส่ฝีหรือตุ่ม ล้างแผล อีกตำรับหนึ่งคือตัวอย่างที่อำเภอเชียงดาว จ. เชียงใหม่ ก็ใช้ใบแฮ้งตายหยาก หัวกลิ้งกลางดง และเหง้าไพล ต้มล้าง หรือแช่ หลายคนจะใช้ผลมะเกลือ ตำทาพอกตามซอกนิ้วเท้า หากตะขาบต่อย อาจใช้ว่านตะขาบ ตำผสมเหล้า 40 ดีกรี แล้วพอกแผล

            ส่วนสมุนไพรเพื่อการสาธารณสุขมูลฐานก็จะมีหลายชนิด เช่น ชุมเห็ดเทศใช้ใบ หรือราก ทองพันชั่งใช้ราก ตำผสมเหล้าทา กระเทียม สำหรับตำหรือคั้นน้ำทา ระยะเวลาการใช้ ควรใช้วันละสามครั้ง เมื่อหายแล้วทาต่อประมาณอีกหนึ่งถึงสองสัปดาห์ หลีกเลี่ยงการแช่น้ำเป็นเวลานาน เนื่องจากเท้าจะเปื่อย หรือชุ่มชื้น ทำให้เกิดการติดโรคเชื้อราได้ หลังจากสัมผัสน้ำแล้วจึงควรล้างให้สะอาด ก่อนจะเช็ดให้แห้ง ทั้งนี้การรักษาไม่ยากเพียงแต่ใช้เวลานานโดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานและผู้สง อายุ เพราะเลือดลมเดินไม่ค่อยสะดวก อาจจะต้องดูแลเป็นพิเศษมากขึ้น

            การใช้ยาอย่างถูกวิธี จะช่วยให้การรักษาได้ผลดี  สำหรับผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง เช่น ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ควรได้รับการดูแลเป็นกรณีพิเศษ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายจากการขาดยา อาจให้ญาติช่วยดูแล และแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ทราบ และควรเตรียมยา ชื่อยาที่ใช้ให้พร้อมก่อนเคลื่อนย้าย

            นอกจากนี้ อาหารเป็นส่วนสำคัญยิ่งในการส่งเสริมสุขภาพ ช่วยเติมพลังงานให้กับร่างกาย รวมทั้งกลุ่มอาหารอ่อน ข้าวบด ต้มธัญพืชแล้วบด ยังช่วยคลายเครียด ช่วยให้นอนหลับ และช่วยฟื้นฟูร่างกายในช่วงน้ำท่วมได้เป็นอย่างดี




ขอบคุณข้อมูลจาดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่