ว่าด้วยระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเด็กไทย (ตอนที่ 1)


           ประเทศไทยของเรามีการใช้ระบบสอบคัดเลือกเข้าสู่สถาบันอุดมศึกษาแบบที่เป็นการสอบที่ส่วนกลางหรือEntrance มานานเกือบ 50ปีแล้วนะคะ นับจากปีพ.ศ. 2504 ซึ่งเวลานั้นน้องๆ ยังไม่เกิดกันหรอกนะคะ การจัดสอบ Entranceนี้ก็เพื่อแก้ปัญหาความสิ้นเปลือง และความสูญเปล่าเนื่องจากการสละสิทธิ์ ซึ่งก็เป็นปัญหาที่คล้ายคลึงกับในยุคปัจจุบัน  เพราะนักเรียนมัธยมปลายที่เก่งก็จะตระเวนสอบไปทั่วทุกมหาวิทยาลัย เมื่อติดแล้วก็ไม่ยอมเอา สละสิทธิ์กันทำให้คนที่เรียนอ่อนสอบไม่ติดสักแห่ง ทั้งยังเป็นปัญหาต่อเด็กที่อยู่ชนบทที่ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการเดิน ทางเข้ามาสอบตามมหาวิทยาลัย


เอาล่ะ เรามาทำความรู้จักกับระบบ Entrance ในยุคของพ่อแม่เรากันดูว่ามันเป็นยังไงนะคะ…


ตอนแรกข้อสอบ  Entrance นั้นจำแนกออกเป็น 2 สาย คือ
1. สายวิทยาศาสตร์  ประกอบด้วยข้อสอบ 5 วิชาได้แก่  อังกฤษ, คณิตศาสตร์, เคมี, ชีววิทยาและฟิสิกส์
2. สายศิลป์   ประกอบด้วยข้อสอบ 4 วิชาได้แก่ ภาษาไทย, อังกฤษ, คณิตศาสตร์และสังคม
         รูปแบบข้อสอบดังกล่าวถูกใช้ต่อเนื่องมายาวนานถึง 21ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบข้อสอบบางอย่างในปี 2526 ทำให้มีการเพิ่มวิชาในการสอบเป็น
1. สายวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วยข้อสอบ 7 วิชาได้แก่ ภาษาไทย, อังกฤษ,  สังคม, คณิตศาสตร์, เคมี, ชีววิทยาและฟิสิกส์
2. สายศิลป์   ประกอบด้วยข้อสอบ 5 วิชาได้แก่  ภาษาไทย, อังกฤษ, คณิตศาสตร์, สังคม และชีววิทยา

UploadImage

         รูปแบบการสอบลักษณะดังกล่าวถูกใช้ต่อเนื่องมาอีกยาวนานถึง 16 ปี กระทั่งมีการปฏิรูปการศึกษาในช่วงปี พ.ศ. 2542  ซึ่ง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบการศึกษาพื้นฐาน และระบบการสอบคัดเลือกเข้าสู่มหาวิทยาลัย มีการยุบรวมทบวงมหาวิทยาลัยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวง ศึกษาธิการเพื่อให้การบริหารจัดการครบถ้วน และต่อเนื่อง  และมีการออกมาบอกว่าข้อสอบ Entrance ในอดีตนั้นออกสอบเกินขีดความรู้ในห้องเรียนทำให้เด็กต้องไปกวดวิชา และเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กในเมือง และเด็กในชนบท
 


UploadImage

          ต่อมา ระบบการศึกษาพื้นฐานได้ปรับมาใช้การจัดแบ่งแบบ 4 ช่วงชั้น และ 8 กลุ่มสาระในปี พ.ศ. 2544  (ซึ่งก็เป็นระบบการเรียนที่น้องๆ กำลังเรียนกันอยู่นั่นแหละค่ะ คือมี ป.ต้น ป.ปลาย ม.ต้น และ ม.ปลาย)  ทำให้การสอบคัดเลือกเข้าสู่มหาวิทยาลัยจึงต้องปรับรูปแบบตามการจัดการศึกษา พื้นฐาน และเพื่อให้เห็นชัดถึงความแตกต่างในรูปแบบ จึงเปลี่ยนจากคำว่าEntrance หรือ “สอบเข้า” ไปเป็นคำว่า “Admission” ที่แปลว่า “รับเข้า” สิ่งสำคัญที่ถูกปรับเปลี่ยนคือการที่ผู้สมัครรู้คะแนนตนเองก่อนจึงไปเลือก สาขา จึงลดจำนวนผู้ที่ผิดหวังจากการสอบลง (เป็นข้อดีนะคะที่ได้รู้ศักยภาพว่าตัวเองมีโอกาสเข้าเรียนที่ไหนได้)และ ยังแก้ปัญหาเด็กที่ไม่สนใจเรียนในห้อง มุ่งกวดวิชาเฉพาะที่อยู่ในข้อสอบ ระบบ Admission จึงกำหนดให้นำค่าเกรดเฉลี่ย และระดับเปอร์เซ็นต์ไตล์ในช่วงมัธยมปลาย (GPA + PR = 10%) มา ใช้พิจารณาด้วย และยังสามารถสอบได้ปีละ2 ครั้ง คือรอบเดือนตุลาคม และมีนาคม


UploadImage

         และแล้วหลังจากใช้งานมาได้เพียง 4 ปี  ปัญหาก็เกิดจนได้เมื่อระบบ Admission ถูกโต้แย้งและร้องเรียนมากมายในทำนองว่า มีการปล่อยเกรด เกรดเฟ้อในบรรดาโรงเรียนที่ไม่ได้มาตรฐาน และก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการกวดวิชา นับวันก็มีแต่จะมากขึ้น จนทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของระบบสอบคัดเลือกเข้าสู่สถาบันอุดมศึกษาอีกครั้งในปี 2549  คราวนี้มีองค์กรมหาชนจัดตั้งใหม่อย่าง สทศ. เข้ามาเป็นผู้ดำเนินการจัดสอบ O-NET และ A-NET (ทั้ง ที่แต่แรกนั้น สทศ. ถูกออกแบบมาเพื่อทดสอบคุณภาพและมาตรฐานในการศึกษาในระดับพื้นฐานนะคะ ไม่ใช่ดำเนินการสอบเข้าระดับอุดมศึกษาค่ะ)

         ระบบAdmission ปี 49 นั้นกำหนดให้ใช้เกรดเฉลี่ยสะสม (GPAX) มาพิจารณา 10%  ใช้เกรดเฉลี่ย (GPA)  20%  และให้นำคะแนน O-NET มาใช้พิจารณา 35-70%  คะแนน A-NET 0-35% (ซึ่งค่าO-NET  และ A-NET  แตกต่างกันไปตามภาควิชาฯ คณะฯ และมหาวิทยาลัยค่ะ)   

UploadImage


         หลังจากใช้ระบบO-NET และ A-NET มาได้ 4ปี ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)  ก็ตกลงกันว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงระบบสอบคัดเลือกเข้าสู่สถาบันอุดมศึกษาอีก ครั้งโดยมีการกำหนดให้สอบ GAT (General Aptitude Test) และ PAT (Professional & Academic Test) แทน A-NET เพื่อให้มีลักษณะเป็นมาตรฐานสากล เทียบได้กับการสอบ SAT ของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยให้สอบได้มากถึง 3 ครั้งต่อปี (มี.ค. ก.ค. และต.ค.) เพื่อนำคะแนนสอบที่ได้รวมกับค่าเกรดเฉลี่ยสะสม และคะแนน O-NET ไปประกอบการสมัครเข้ามหาวิทยาลัย (ซึ่งมีทั้งการรับสมัครผ่านโควตา รับสมัครตรง และรับสมัครส่วนกลาง)
 
         น้องๆ อย่าเพิ่งงงกันนะคะ พี่จะสรุปแต่แรกให้เข้าใจก็คือ ตอนแรกใช้ระบบ Entrance เพราะว่าสมัยแรกๆ การสอบเข้าระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยเป็นผู้รับนักศึกษาเอง ทำให้เกิดปัญหาคนเด็กเก่งตระเวนสอบ เมื่อสอบติดก็สละสิทธิ์แย่งที่นั่งเด็กไม่เก่ง ระบบ Entrance จึงออกมาแก้ปัญหานี้ แต่ก็ยังเกิดปัญหาขึ้นอีกเมื่อข้อสอบ Entrance มันยากเกินไป ทำให้เกิดการกวดวิชาและความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กในเมืองและเด็กชนบทเพิ่ม ขึ้น เขาจึงเปลี่ยนมาเป็นระบบ Admission เพื่อจะมาแก้ไขปัญหาเด็กกวดวิชา โดยนำเกรดเฉลี่ยมาคิดด้วย 10 % ทั้งยังสอบได้ 2 ครั้งและมีสิทธิ์รู้ผลคะแนนก่อนเลือกเข้าศึกษา แต่ระบบ Admission ก็ถูกร้องเรียนว่าไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการกวดวิชา และการนำเกรดเฉลี่ยมาใช้ทำให้แต่ละโรงเรียนปล่อยเกรด จึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของ Admission โดยใช้การสอบ O-NET  และ A-NET  เพื่อให้แต่ละมหาวิทยาลัยกำหนดกฎเกณฑ์ค่าน้ำหนักได้เอง และเมื่อใช้รูปแบบนี้ได้ 4 ปี ก็มีการเปลี่ยนการสอบ A-NET เป็นGAT และPATเพื่อให้มีความเป็นสากลเหมือนอเมริกานั่นเอง

         วันนี้เล่าถึงตรงนี้ก่อนนะคะ ปวดหัวเหลือเกินกับระบบการศึกษาไทยที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย เดี๋ยวเล่ายาวไปน้องๆ จะเบื่อไม่อยากอ่านซะก่อน ตอนหน้าพี่จะกลับมาเล่าต่อว่าระบบ GAT และPATนั้นดีหรือไม่ดียังไง แล้วทำไมจึงต้องเกิดการรับตรงกลาง รวมถึงการมองปัญหาระบบการศึกษาไทย แล้วพบกันตอนที่ 2 นะคะ